เรื่องที่ทำให้ชีวิตยุ่งยากโดยไม่จำเป็น

เรื่องหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเรายุ่งยากโดยไม่จำเป็นคือ คนเรามักชอบให้คนอื่นคิดเหมือนกับตัวเอง เราชอบคนที่คิดแบบเดียวกับเรา และมักรู้สึกอึดอัดเวลาที่ต้องเจอใครที่คิดต่างจากเรา ถ้าเราสามารถตัดความต้องการนี้ออกไปได้ ชีวิตของเราจะง่ายขึ้นมากในหลายๆ มิติ

มาลองคิดดูดีๆ ทำไมเราต้องอยากให้คนอื่นคิดเหมือนกับเราด้วย ถ้าคนอื่นคิดต่างจากเราแล้วมันยังไง มันก็แค่ความคิดเห็นที่ต่างกันเฉยๆ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่คนสองคนจะคิดเหมือนกันไปหมดทุกเรื่อง เราจะแสวงหาเพื่อนที่คิดเหมือนเราไปทำไม บางทีมันอาจเป็นสัญชาตญาณบางอย่างที่ธรรมชาติสร้างมาให้บรรพบุรุษของเรา เพื่อให้เราอยู่รอดได้มากขึ้นจากการรวมกลุ่ม แต่มันไม่ได้จำเป็นอีกต่อไปแล้วในโลกสมัยใหม่ เหมือนๆ กับสัญชาตญาณของการเหยียดผิว

คนเราชอบผูกขาดความจริง เราอยากให้ความเชื่อของเราได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นความถูกต้องที่สังคมทั้งหมดต้องยอมรับ แต่ในความเป็นจริง ทุกคนในสังคมไม่มีทางคิดเหมือนกันได้หมด และคนอื่นๆ ก็อยากให้ความเชื่อของเขาได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นความถูกต้องเช่นกัน กลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่มีวันจบสิ้น

ในสังคมอำนาจนิยม บ่อยครั้งความขัดแย้งนี้จบลงด้วยการใช้อำนาจบังคับโดยผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ถ้าเรามีอำนาจหรือสถานะทางสังคมที่เหนือว่าใครในสังคม เราก็มักจะใช้อำนาจนั้น บังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้คนที่อยู่ใต้เราต้องเชื่อตามเราไปด้วยแบบไม่เต็มใจ เช่น ถ้าเราเป็นเจ้านาย เราก็แสดงออกว่าเราชอบลูกน้องคนที่คิดเหมือนเรามากกว่า หรือไม่รับใครเข้าทำงานด้วยเหตุผลที่ว่า เขามีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกันเรา เพื่อบังคับให้ลูกน้องหันมาคิดเหมือนเรา  เป็นครูบาอาจารย์ก็บังคับลูกศิษย์ เป็นพ่อแม่ก็บังคับลูก ทั้งที่เราก็รู้ว่า คนเหล่านั้นไม่ได้เห็นด้วยกับเราจริงๆ เขาแค่กลัวเรา แต่เราก็ยังยินดีที่จะหลอกตัวเอง บังคับให้คนอื่นต้องไหว้หน้าหลังหลอก เพราะความต้องการที่จะผูกขาดความจริงของเรามันรุนแรงมาก และเราก็จะหาเหตุผลดีๆ มาสนับสนุนการใช้อำนาจในทางมิชอบของเรา เช่น บอกว่าเราทำเพื่อความถูกต้องบ้างล่ะ เพื่อความดีบ้างล่ะ แต่จริงๆ แล้วเราแค่อยากผูกขาดความจริง เป็นการทำเพื่อตัวเองล้วนๆ

ยิ่งเป็นเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง เรายิ่งรู้สึกรุนแรง เรารู้สึกเกลียดชังคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองฝั่งตรงข้ามกับเราอย่างมาก หลายๆ คนอยากให้คนจำนวนหนึ่งในสังคมตาย เพื่อให้สังคมที่เหลือทั้งหมดเห็นด้วยกับตัวเอง หลายคนอยากจับคนที่เห็นต่างมานั่งอธิบายยาวๆ ว่าเขาผิดยังไง และเราถูกยังไง ที่น่าตลกก็คือ คนที่เห็นต่างกับเราเองก็อยากเปลี่ยนเรามากเท่าๆ กับที่เราอยากเปลี่ยนเขานั่นแหละ ความคิดเห็นทางการเมืองเป็นอะไรที่หยั่งรากลึกมากๆ ในตัวคน ดังนั้นแค่การมานั่งอธิบายเหตุผลยาวเหยียดมักเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองไม่ได้ง่ายๆ ต่อให้เราเถียงจนอีกฝ่ายหนึ่งจนมุมด้วยเหตุผล สุดท้ายแล้ว เขาก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนความคิดอยู่ดี แต่เราเกลียดกันมากกว่าเดิม

บางคนบอกว่า ถ้าเราเถียงกันแต่เถียงด้วยเหตุผล ก็น่าจะดีไม่ใช่เหรอ ซึ่งอันนั้นผมก็เห็นด้วยแต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ในชีวิตจริงคือ คนเราส่วนใหญ่ใช้อารมณ์ทั้งนั้น คือเราใช้อารมณ์เลือกสิ่งที่เราถูกใจและไม่ถูกใจก่อน จากนั้นเราค่อยคิดหาเหตุผลมาสนับสนุนความถูกใจไม่ถูกใจของเรา เพื่อหลอกตัวเองว่าเรามีเหตุผล เหตุผลเหล่านั้นมักเป็นเหตุผลที่เราเลือกมาแต่อันที่สนับสนุนความถูกใจของเราเท่านั้น เหตุผลไหนที่ขัดแย้ง เราแกล้งละเลยโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การเถียงกันจึงมักไม่ค่อยได้ประโยชน์จริงอย่างที่คิด ถ้าหากผมเจอคนที่ยังเปิดใจและพร้อมจะรับฟังเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่งจริงๆ ผมก็จะเสียเวลาอธิบายให้พวกเขาฟังนะ เพียงแต่ว่าในความจริง คนแบบนั้นมีอยู่น้อยมากๆ

ถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ต่อไปนี้ถ้าคนอื่นมีความคิดเห็นต่างจากเรา  นั่นเป็นสิทธิของเขา เป็นเสรีภาพของเขา เราจะไม่พยายามเปลี่ยนเขา และเราก็ไม่มีสิทธิอะไรที่จะไปเปลี่ยนความคิดของเขาด้วย ความคิดเห็นก็เป็นเพียงแค่ความคิดเห็น ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ แบบนี้ ชีวิตของเราของเราจะง่ายขึ้นมาก ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเปลี่ยนคนอื่น เอาเวลาและพลังงานไปทำอย่างอื่นเพื่อที่พัฒนาตัวเอง และทำสิ่งดีๆ ให้กันและกันดีกว่า

(ที่เขียนซะหล่อขนาดนี้ ใช่ว่าต้วเองจะทำได้แล้วนะ แต่ก็พยายามอยู่)

 

ถ้าให้แนะนำคนอื่นแค่เรื่องเดียว ผมจะแนะนำเรื่องอะไร

แปลกแต่จริงนะที่เดี๋ยวนี้ผมไม่อยากสอนหรือแนะนำอะไรใครเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิต

ไม่ใช่ว่าหวงความรู้หรืออะไรเลย แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าจริงๆ แล้ว ตัวเราไม่ได้รู้อะไรขนาดนั้น ที่จะริอ่านไปสอนคนอื่น เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกด้วยซ้ำว่า เมื่อก่อนที่เวลาที่ผมชอบสอนคนอื่น บ่อยครั้งเป็นเพราะเราแค่อยากเอาความเชื่อของเราไป force คนอื่นให้เชื่อเหมือนกันเรา แทนที่เราจะสอนเพราะว่าเราอยากให้อะไรแก่พวกเขาจริงๆ

ตอนอายุ 20+ ผมไฟแรงมาก รู้สึกว่าตัวเรานี่มีความรู้เยอะ ก็เลยรู้สึกอยากเผยแพร่ความรู้ของเราเป็นวิทยาทานให้คนอื่น ทำให้เป็นคนชอบสอน แต่พอตอนอายุ 40+ กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย ทำให้แรงจูงใจที่อยากจะสอนคนอื่นหายไปหมด

อีกอย่างหนึ่งคือยิ่งนับวันยิ่งรู้สึกว่า คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย เราไม่สามารถเอาวิธีที่ประสบความสำเร็จสำหรับตัวเราไปบอกคนอื่นให้ทำตามแล้วจะประสบความสำเร็จแบบเดียวกันได้ จุดมุ่งหมายหรือคุณค่าในชีวิตของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนมองความสำเร็จเป็นเรื่องใหญ่ บางคนมองความรักเป็นเรื่องใหญ่ ฯลฯ ทุกคนเกิดมาเพื่อจะเป็นใครสักคนที่ไม่เหมือนกับใครๆ เลยในโลกนี้ จึงไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้เสมอกับทุกคน

อาจจะจริงที่ว่าอาจจะมีหนทางบางหนทางที่ใช้ได้กับคนจำนวนมากๆ อยู่บ้าง แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมรู้สึกว่าผมเป็นคนแปลกเกินกว่าที่จะเอาวิธีแปลกๆ ของผมมาใช้กับคนส่วนใหญ่ได้ ถ้าใครเป็นคนแบบนั้น ก็ให้เขาเป็นคนสอนคนอื่นๆ จะดีกว่าให้ผมสอน

ทุกวันนี้ถ้าจะให้สอนใครสักคนเรื่องอะไรก็ได้สักเรื่องหนึ่ง เรื่องเดียวที่อยากจะบอกก็คือ ให้ทุกคนออกไปลองลงมือทำให้มากที่สุด อย่าเกี่ยงโอกาสส่วนใหญ่ที่เข้ามาในชีวิต การได้ลองทำเท่านั้นที่จะทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เหมาะกับตนเองจริงๆ คืออะไร อย่ามัวแต่นั่งคิด เราไม่มีทางค้นพบสิ่งที่เหมาะกับตัวเองจริงๆ ได้ด้วยการนั่งคิด อย่ามัวแต่รอถามกูรู เพราะไม่มีกูรูคนไหนที่จะรู้จักตัวเราเองได้ดีกว่าตัวเรา ถ้าผมกลับไปบอกตัวเองตอนอายุ 20 ได้ก็จะแนะนำแบบนี้เหมือนกัน มีคนน้อยมากๆ ที่รู้ตัวเองตั้งแต่เกิดว่าอยากทำอะไร ทุกคนจะค่อยๆ ค้นพบตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจจากการที่ได้ลองทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยๆ ตลอดเส้นทางของชีวิตมากกว่า เพราะฉะนั้นยิ่งใครลองทำมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสค้นพบตัวเองได้มากและเร็วขึ้นเท่านั้น

สัญลักษณ์ในเรื่องหนูน้อยหมวกแดง

นิทานสำหรับเด็กอย่างเรื่องหนูน้อยหมวกแดงก็มีสัญลักษณ์แอบซ่อนอยู่

หมวกแดงหมายถึงเลือด ซึ่งหมายถึงประจำเดือน การที่หนูน้อยใส่หมวกแดงจึงหมายถึงเด็กผู้หญิงที่กำลังแตกเนื้อสาว

นิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดงจึงหมายถึงเด็กผู้หญิงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยสาว (coming-of-age) ต้องเริ่มต้นเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงที่ฉาวคาวโลกีย์  การเดินเข้าไปในป่าเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มรู้เดียงสา ในขณะที่หมาป่าหมายถึงเพศชาย ที่เข้ามากลืนกินหนูน้อยหมวกแดง ซึ่งอาจหมายถึงการข่มขืน

นิทานเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนการเตือนเด็กผู้หญิงให้อยู่ในโอวาท (เชื่อฟังคุณแม่ ไม่ไปเที่ยวเถลไถลในป่า เพื่อที่จะได้ปลอดภัยจากภัยคุกคามรอบตัว)​

นั่นคือการตีความนิทานเรื่องนี้โดยคนที่ใช้แนวคิดของฟรอยด์เข้ามาจับ ส่วนจริงๆ แล้วคนแต่งเรื่องนี้จะคิดแบบนั้น (คิดจริงๆ หรือคิดโดยจิตไร้สำนึก) รึเปล่า ก็แล้วแต่ทุกคนจะ speculate

Carl Jung และ Archetypes

ยุงบอกว่า จิตไร้สำนึกของคนเรามีสองส่วน

ส่วนแรกคือ Personal Unconscientiousness ซึ่งเก็บเรื่องราวเฉพาะบุคคลของแต่ละคนเอาไว้

กับส่วนที่สองคือ Collective Unconscientiousness ซึ่งเป็นส่วนที่แชร์กันระหว่างมนุษยชาติ เกิดจากประสบการณ์ของบรรพบุรุษของเราที่สะสมรวมกันมาในพันธุกรรม แล้วถ่ายทอดลงมาในจิตไร้สำนึกของมนุษย์ทุกคน

สังเกตได้จาก เด็กแรกเกิดจำนวนมากจะกลัวงู ทั้งที่ไม่เคยเห็นงูมาก่อนในชีวิต เพราะงูเป็นศัตรูของมนุษย์มาต้ังแต่ยุคหิน ความกลัวงูจึงเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม และทำให้มนุษย์สมัยใหม่กลัวงูตั้งแต่เกิด โดยที่ไม่จำเป็นต้องเคยเจองูมาก่อน สัตว์จำพวกนกก็กลัวเหยี่ยวตั้งแต่เกิดเหมือนกัน

นอกจากนี้ จิตใต้สำนึกร่วมกันที่ว่านี้ยังมีอยู่ในคนทุกชาติทุกภาษาทั้งที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน ซึ่งสังเกตได้จากสัญลักษณ์หลายๆ อย่างที่มีร่วมกันอยู่ในทุกๆ วัฒนธรรม เรียกว่า Archetypes ตัวอย่างเช่น สัญลักษณ์เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนามักจะมีรูปวงกลม หรือจุดศูนย์กลาง หรือชายแก่มักเป็นสัญลักษณ์แทนปัญญา หรือนิทานปรัมปราของหลายๆ เชื้อชาติ มีโครงเรื่องที่เหมือนกัน เช่น มีวีรบุรุษที่ต้องระเหเร่ร่อนตอนเด็กๆ แล้วกลับมายิ่งใหญ่ในตอนจบ หรือลูกกษัตริย์ที่ฆ่าพ่อของตัวเอง เป็นต้น

ในแง่ของความต้องการและจุดมุ่งหมายในชีวิตของคนเรา ยุงได้ไขออกมาว่าคนเรามีความต้องการสูงสุดในชีวิตได้ 12 แบบ เรียกว่า the 12 archetypes ซึ่งแต่ละคนจะมีแบบใดแบบหนึ่งที่เด่นมากเป็นพิเศษ และทุกคนสามารถใช้ 12 archetypes เป็นแนวทางในการค้นหาความต้องการที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกของตัวเองได้ด้วย

Joseph Campbell เป็นคนที่หนึ่งที่เอาแนวคิดนี้มาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนบทภาพยนตร์หรือนิยายหรือนิทานหลายๆ เรื่องที่มีโครงเรื่องคล้ายกัน เรียกว่า the Hero’s Journey ตัวอย่างเช่น สตาร์วอร์ส และอีกหลายๆ เรื่องที่มีพล็อตเรื่องเกี่ยวกับฮีโร่ ซึ่งอาจเป็นความบังเอิญในจิตใต้สำนึกของผู้ประพันธ์ ที่ต้องการเรื่องราวอะไรทำนองนี้ และมีอยู่ในทุกชาติทุกภาษา

 

 

Carl Jung กับเป้าหมายของชีวิต

ยุงเชื่อว่าจิตใจของคนเรามีทั้งส่วนที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (จิตไร้สำนึก)​ ซึ่งก็คล้ายๆ กับฟรอยด์ แต่ยุงไม่ได้เชื่อว่าจิตไร้สำนึกเป็นที่อยู่ของแรงขับเรื่องเพศและความก้าวร้าวเป็นหลักแบบฟรอยด์ ยุงเชื่อว่าจิตไร้สำนึกมีอะไรมากกว่านั้น คือเกี่ยวข้องแทบจะทุกเรื่องในชีวิตของเราเลย

เมื่อคนเราเติบโตขึ้นและต้องอยู่ร่วมกับสังคม ความต้องการทั้งหลายของเราจะชนเข้ากับความต้องการของสังคม ทำให้เราต้องปรับตัวด้วยการซ่อนหรือกดเก็บความต้องการบางอย่างของเราไว้ในจิตไร้สำนึก ทำให้เราไม่รู้ตัวอีกต่อไปว่าเรามีด้านนั้นๆ อยู่ในตัวเราด้วย ถึงจุดหนึ่งการห่างเหินจากด้านที่หายไปของเราจะเริ่มกลับมาสร้างปัญหาในการใช้ชีวิต ดังนั้นหน้าที่ของเราคือการดึงส่วนที่หายไปนั้นกลับมา เพื่อให้เรากลับมาเป็นคนที่สมบูรณ์ จุงเรียกกระบวนการนี้ว่า Individuation

อาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายชีวิตของทุกคนคือกระบวนการ Individuation นี่แหละ ยิ่งโตขึ้น เรายิ่งต้องค่อยๆ รู้จักตัวเองในด้านลึกให้มากขึ้น ยอมรับว่าเรามีด้านมืดในบุคลิกภาพของเราอยู่ โดยไม่ตัดสิน ดึงมันกลับมาให้เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของเราอีกครั้ง หาทางนำมันมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์และในเวลาเดียวกันก็ไม่เดือดร้อนสังคม แทนที่จะหลอกตัวเองว่าเราไม่มีด้านเหล่านั้นแล้วกดเก็บมันไปเรื่อยๆ จนระเบิดออกมา คนที่ผ่านกระบวนการ Individuation ได้สำเร็จจะเป็นคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์​ [คล้ายกับเรื่อง Self-actualization ของ Maslow]

มีหลายวิธีที่จะทำให้เราสามารถเข้าถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราได้ เช่น การเขียนบันทึกประจำวันเป็นประจำ หรือการหาโอกาสอยู่คนเดียวเงียบๆ เพื่อฟังเสียงในใจของตัวเองบ้าง รวมไปถึงการสังเกตตัวเองว่ามีความสุขกับอะไรบ้าง กิจกรรมอะไรที่ทำแล้วมีความสุขจนลืมเวลา การสังเกตว่าเรารู้สึกโกรธมากเป็นพิเศษเวลาที่เราถูกคนอื่นวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาประกอบกันเพื่อทำให้เราเข้าใจจิตไร้สำนึกของตัวเองมากขึ้น แต่โดยมากแล้วเราอาจต้องใช้เวลาจนถึงอายุประมาณ 40 ปีกว่าจะรู้จักตัวเอง

บางคนกดเก็บความคิดในด้านมืดของตัวเองไว้ตลอดเวลา ปฏิเสธว่าตนเองมีความอิจฉาริษยาผู้อื่น ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีด้านที่คิดลบด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีมนุษย์คนไหนที่ไม่มีด้านมืดเลย สุดท้ายแล้วมันจึงกลายเป็นการหลอกตัวเอง (toxic positivity) กลายเป็นปัญหาบุคลิกภาพ พวกเขาอาจเก็บกดจนเกิดความเครียด หรือระเบิดออกมาในที่สุด ในขณะที่คนที่มีจิตใจที่สมดุลมากกว่า จะยอมรับความจริงว่าตัวเองมีความคิดด้านลบอยู่ด้วย แต่พยายามแสดงออกหรือนำมันมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์และสังคมยอมรับ เช่น ใช้เป็นแรงผลักดันให้พัฒนาตนเอง เป็นต้น เป็นบุคลิกภาพที่สมดุลมากกว่า และมั่นคงในระยะยาว

บางคนประสบความสำเร็จในชีวิตสูงมาก มีเงินมากมาย มีอำนาจ มีชื่อเสียง มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ในทางจิตใจแล้วเป็นคนที่เก็บกด มีจิตใจอิจฉาริษยาคนอื่น ยังโหยหาการยอมรับจากสังคมอยู่ร่ำไป ฯลฯ เป็นคนที่ยังไม่เต็ม ก็ไม่นับว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ในขณะที่คนที่บรรลุ Self-actualization แล้ว แม้ว่าจะดูเหมือนประสบความสำเร็จในทางวัตถุน้อยกว่า แต่ก็ชื่อได้ว่าเป็นคนที่บรรลุเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่แล้ว

 

Existentialism กับความหมายของชีวิต

ตามแนวคิด Existentialism ชีวิตโดยเนื้อแท้ไม่ได้มีความหมายใดๆ มีแต่ความว่างเปล่า ซึ่งถ้าหากหยุดแค่นี้ก็ดูเหมือนเป็นโชคร้ายอย่างยิ่งที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าปรัชญาแนวนี้มองโลกในแง่ร้าย ซึ่งที่จริงแล้วตรงกันข้าม

ปรัชญาแนวนี้มองว่า ถ้าเราจะมองว่าการที่ชีวิตไม่มีความหมายใดๆ เป็นเรื่องโชคร้ายก็ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน มันคือโชคดีด้วย เพราะนั่นหมายความว่า คนเรามีอิสระที่จะสร้างความหมายของชีวิตขึ้นมาเองอย่างไรก็ได้ มีคือเสรีภาพ

แต่สิ่งที่มนุษย์จำนวนมากในอดีตทำคือแทนที่จะนิยามความหมายของชีวิตขึ้นมาด้วยตัวเอง เราขี้เกียจ เราละทิ้งเสรีภาพนั้น และวิ่งเข้าหาสิ่งนอกตัวให้ช่วยกำหนดความหมายของชีวิตให้ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ศาสนา สังคม การเมือง ซึ่งปรัชญาแนวนี้มองว่า การทำเช่นนั้นก็เหมือนเราไม่เคยมีชีวิตอยู่เลยในทางจิตวิญญาณ

ดังนั้นตามแนวคิดนี้ ทุกคนมีหน้าที่ค้นหาตัวเอง เข้าใจตัวเอง แล้วกำหนดคุณค่าและความหมายชีวิตของตัวเองขึ้นมาด้วยตัวของเราเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาบอก หรือปล่อยให้สังคมเป็นคนกำหนด ซึ่งโดยสันดานแล้ว มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ชอบแบบนั้น เพราะว่ามันเป็นชีวิตที่ยากกว่า ดังคำกล่าวที่ว่า เราโดนสาปให้มีอิสระ เราชอบเป็นทาสมากกว่า เพราะว่ามันง่ายดี ไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง

แต่ถ้าเราอยากใช้ชีวิตนี้ให้คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมา จงเลือกที่จะกำหนดทางเดินชีวิตของตัวเอง พัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อไปให้สุดทางนั้น และรับผิดชอบการกระทำทุกอย่างของตัวเอง แม้ว่าการทำเช่นนั้นอาจทำให้คนรอบข้างไม่ถูกใจ ไม่ได้เป็นที่รัก หรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ก็ตาม

หลายคนเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ทำให้คนรอบข้างยอมรับ เช่น เลือกอาชีพที่ได้เงินเดือนสูงแต่ไม่ได้ชอบเลยสักนิด แต่งงานกับคนที่ตัวเองไม่ได้รัก เพื่อให้พ่อแม่พอใจ เลือกคบคนหรือเลือกใช้ของที่ตัวเองไม่ได้ชอบแต่ทำตามสถานะทางสังคมที่โลกภายนอกกำหนดมาให้ เพื่อไม่ให้ดูเป็นคนแปลกๆ สุดท้ายแล้ว ชีวิตแบบนั้นก็ไม่ได้มีความสุข เพราะมัวแต่ทำตามความคาดหวังของคนอื่น กลายเป็นทาสของคนอื่น ตายไปก็ไม่ได้ทำอะไรเลยที่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามีความหมายต่อชีวิต ต่างจากคนที่เลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง เลือกอาชีพที่ตัวเองอยากทำจริงๆ แม้ว่าจะขัดใจคนรอบข้าง หรือไม่ได้รับการชื่นชมจากสังคมส่วนใหญ่ (ซึ่งบ่อยครั้งสังคมส่วนใหญ่ก็ตัดสินอะไรแบบผิวเผิน) แต่ก็ได้ทำชีวิตทุกวันให้มีความสุขได้ด้วยการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อเองจริงๆ ทุกวันก็เป็นชีวิตที่คุ้มค่ามากกว่า

คนที่เป็นแนว Existentialist จะเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบมี Passion กับอะไรบางอย่าง ไม่ใช่คนที่ซังกะตาย หรือปล่อยเวลาให้ผ่านไปวันๆ มีเป้าหมาย มีจุดมุ่งหมาย มีคุณค่า (ซึ่ง Existentialist แต่ละคนอาจนิยามคุณค่าที่ไม่เหมือนกันเลยสักนิด) กล้าเสี่ยง กล้าไปให้ถึงขีดจำกัด รับผิดชอบชีวิตของตัวเอง ไม่โทษคนอื่น ไม่โทษสังคม ไม่เชื่ออะไรแบบหลับหูหลับตา และตั้งคำถามกับความเชื่อเก่าๆ อยู่เสมอ

 

 

Schopenhauer และจุดมุ่งหมายของชีวิต

ปรัชญาของโชเฟนฮาวเออร์ได้รับอิทธิพลมาจากการที่เขาสนใจและพยายามต่อยอดปรัชญาของ Emmanuel Kant และต่อมาเขาก็พบภายหลังด้วยว่า แนวคิดของเขามีความคล้ายคลึงกับปรัชญาอินเดียมาก ทำให้เขาเริ่มสนใจปรัชญาอินเดียด้วย

โชเพนฮาวเออร์ สังเกตว่า จักรวาลนี้น่าจะต้องมีแรงบางอย่างที่ขับเคลื่อนอยู่ข้างหลังทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเขาก็ไม่ได้อธิบายมากนักว่าแรงที่ว่านี้มาจากไหน เขาเพียงแต่มีสมมติฐานว่ามันน่าจะมีอยู่ ซึ่งในตัวมนุษย์เองก็มีแรงที่ว่านี้อยู่ด้วยเช่นกัน เรียกว่า Will to Live ที่คอยผลักดันให้เราอยากทำสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้ายกับกิเลสในปรัชญาของอินเดียมาก

แต่โชเพนฮาวเออร์มองว่า ต่อให้คนเราพยายามตอบสนอง Will to Live ของเรายังไง ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เรามีความพึงพอใจได้ในระยะยาว เพราะแรงนี้เป็นแรงที่ไม่มีที่สิ้นสุด ได้แล้วก็ต้องการมากขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้วการพยายามแสวงหาความสุข จึงมักนำไปสู่ความผิดหวังในที่สุด ปรัชญาของเขาได้ชื่อว่าเป็นแนวมองโลกในแง่ร้ายด้วย เพราะเหมือนเราถูกสร้างมาเพื่อให้ผิดหวังในที่สุด (ซึ่งส่วนนี้นับว่าต่างจากปรัชญาอินเดีย ซึ่งมองว่ามีวิธีการที่จะพ้นทุกข์อยู่)​

อย่างไรก็ตาม โชเพนฮาวเออร์ก็มองว่า แม้ว่าความสุขทุกรูปแบบจะแย่หมด แต่ความสุขบางแบบก็แย่น้อยกว่าแบบอื่น ตัวอย่างเช่น การหาความสุขด้วยการแสวงหาวัตถุมาบริโภคหรือครอบครองนั้นเป็นวิธีที่แย่ที่สุด เพราะไม่มีวันจบสิ้น เมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ไม่นานนักก็จะเบื่อใหม่ เพราะรู้สึกว่าชีวิตที่มีทุกอย่างนั้นเป็นชีวิตที่ว่างเปล่าไร้ความหมาย ทำให้ต้องหาความต้องการอย่างใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่การหาความสุขบางประเภท เช่น เสพศิลปะ แสวงหาจริยธรรม แสวงหาความรู้ สร้างมิตรภาพ ฯลฯ นั้นเลวน้อยกว่า เนื่องจากเป็นความสุขที่เสพไปเรื่อยๆ ไม่มีเส้นชัย ทำให้เราสามารถอยู่กับมันได้นานกว่าบางทีก็ตลอดชีวิต [แนวคิดคล้ายๆ กับ Epicurus อยู่นะ] สุดท้ายแล้วคนเราอาจทำได้แค่นี้ คือพยายามเลือกอยู่กับความสุขประเภทที่ไม่ทำให้เราเจ็บปวดมากนักไปตลอดชีวิต พยายามไม่คาดหวังสูงก็จะไม่ผิดหวังมากเกินไป

พิษของโซเซี่ยลเน็ตเวิร์ก

บางคนบอกว่าโซเซี่ยลเน็ตเวิร์กทำให้สมาธิสั้นลง บางคนบอกว่าทำให้คิดอะไรที่ลึกซึ้งได้น้อยลง บางคนบอกว่าทำให้ไม่มีความสุข ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า ฯลฯ ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่ามีส่วนจริงทั้งนั้น แต่มีเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้ยินใครพูด ผมเชื่อว่า โซเซี่ยลเน็ตเวิร์กยังทำให้เรากลายเป็นคนที่มีความสุขกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

โซเซี่ยลเน็ตเวิร์กทำให้เราได้พบเห็นสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น เยอะขึ้น เร็วขึ้น โลกใบเล็กลง เราอยู่ในยุค the age of abundance เป็นยุคที่มีตัวเลือกอยู่มากเกินไปจนเลือกไม่ถูก ตาลายไปหมด และการที่มีตัวเลือกมากขึ้น ก็ทำให้เวลาที่เรามีให้ตัวเลือกแต่ละตัวมีน้อยลง เพราะกลัวจะเสียโอกาสที่จะได้พิจารณาตัวเลือกอื่น แต่ละโพสต์ในฟีดของเรา เรามีเวลามองแค่โพสต์ละ 3 วินาทีเท่านั้น ก่อนที่เราจะไถปัดมันขึ้นไป เพราะในหนึ่งวันมีโพสต์ให้เราต้องดูนับพันๆ โพสต์ พรุ่งนี้ก็มีมาใหม่อีกพันโพสต์ เรามีเพลงให้ฟังใน spotify มากกว่า 2 ล้านเพลง มีหนังให้เลือกดูในเน็ตฟลิกซ์นับหมื่น เมื่อเราอยู่ในโลกแบบนี้นาน ๆเข้า ทุกอย่างจะดูดาษดื่นไปหมด ดูธรรมดา ไม่ว้าว เราจะเริ่มตื่นเต้นหรือซาบซึ้งกับอะไรได้ยากขึ้น

ตอนประถมผมไปดูหนังสตาร์วอร์ส จำได้ว่า หลังจากนั้นอีกสามเดือน ผมก็ยังคลั่งไคล้มันอยู่ มันสนุกเหลือเกิน พอตอนแก่ ผมลองกลับมาดูมันใหม่ หวังว่าจะได้รับความสนุกแบบนั้นอีก แต่ปรากฏว่า ผมหลับภายใน 20 นาทีแรก ผมรู้สึกว่ามันน่าเบื่อเหลือเกิน และแปลกใจว่าทำไมตอนเด็กๆ ผมถึงได้รู้สึกสนุกกับมันได้มากขนาดนั้น ที่จริงแล้ว มันก็หนังเรื่องเดียวกัน แค่สิ่งที่ต่างออกไปคือ ตอนเด็กๆ ผมไม่มีทางเลือกมากนักที่จะมีความสุข หนังสตาร์วอร์สจึงมีค่ามีความหมายต่อผมมากๆ เหมือนสิบปีมีเรื่องเดียว ต่างจากตอนนี้ ที่หนังแบบนั้นมีให้ดูได้มากอย่างไม่มีดูหมด แต่ผมกลับไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับหนังนับพันเรื่องเหล่านั้นเลย เราเจอหนังที่เรารู้สึกประทับใจมากๆ ได้ยากขึ้นทุกวัน ทั้งที่มีหนังให้เราดูมากกว่าเดิมหลายเท่า

การไถหน้าจอช่วยแก้เบื่อได้แบบปัจจุบันทันด่วน ไม่นานนัก เราก็เสพติดมัน พอว่างไม่มีอะไรทำสักสิบวินาที เราก็ไถหน้าจอ แต่ผลของการทำเช่นนี้เป็นประจำก็คือ เราจะเริ่มกลายเป็นคนที่เบื่อง่ายขึ้นเรื่อยๆ เหมือนตายด้าน มีความสุขกับอะไรได้ยากขึ้น เหมือนสมองของเราเริ่มดื้อยา พูดอีกอย่างก็คือ โซเซี่ยลให้ความสุขเราในระยะสั้น แลกกับการหมดสมรรถภาพในการมีความสุขกับสิ่งตางๆ ในระยะยาว ซึ่งคิดแล้วมันเลวร้ายกว่าการทนเบื่อประจำวันเสียอีก

ผมว่ายาเสพติดเช่น เฮโรอีน ที่จริงแล้วไม่น่ากลัว เหตุเพราะเรารู้ดีอยู่แล้วว่ามันมีโทษ เราจึงไม่เข้าหามันตั้งแต่แรก แต่การติดโซเซี่ยลนี่สิที่น่ากลัวกว่า มันมีทั้งข้อดีและไม่ดี ทำให้เราไม่รู้สึกผิดที่จะเสพติดมัน เราอาจบอกตัวเองว่าโซเซี่ยลทำให้เราได้รับรู้โลก เรากำลังรับรู้โลกอยู่ กำลังแสวงหาความรู้อยู่ เราไม่ผิด เราจึงไม่รู้สึกผิดที่จะใช้มันแบบไร้ขีดจำกัด เราจึงติดมันได้ง่ายกว่าเฮโรอีนเยอะ ใครมาเตือนเรา เราก็มีเหตุผลดีๆ นับล้านวิธีที่จะด่ากลับไป

โลกเรามาถึงจุดที่เราเลิกใช้โซเซี่ยลโดยสิ้นเชิงไม่ได้แล้ว เพราะทุกคนใช้มันทำทุกอย่างไปแล้ว แต่ผมคิดว่าเราควรมีวิธีจำกัดการเล่นของเรา ก่อนที่สักวันหนึ่งมันจะทำให้เรา ไม่สามารถมีความสุขกับอะไรได้เลย ชีวิตแบบนั้นมันน่ากลัว

ฤาโลกได้เปลี่ยนไปแล้วตลอดกาล

หลังจากโดนโควิดเล่นงานมาตลอดสามปีเต็ม โลกของเราก็กำลังจะผ่านพ้นเคราะห์นี้ไปเสียที

บางคนคิดว่า ต่อจากนี้ไป โลกของเราก็จะค่อยๆ กลับสู่โลกแบบเดิมก่อนยุคโควิด แต่บางคนก็บอกว่า โลกของเราได้เปลี่ยนไปแล้วตลอดกาล มันจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป โควิดเป็นแค่ด่านแรก เรายังต้องเจออะไรอีกเยอะ

ไม่มีใครรู้อนาคตที่แน่นอน ไม่รู้ว่าความคิดแบบไหนกันแน่ที่ถูกต้อง เราอาจแค่ถูกหลอกด้วยเหตุการณ์ผิดปกติแค่เหตุการณ์เดียวในรอบหนึ่งร้อยปี แล้วพาลให้คิดไปว่าทุกอย่างจะแย่ลงตลอดไป หรือว่าจริงๆ แล้ว โควิดเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่มีใครรู้ว่าจะพิสูจน์หรือหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ยังไง

ถ้าหากทุกอย่างค่อยๆ กลับสู่โลกแบบเดิมก็ดีไป แต่ถ้าสมมติว่า โลกของเราเปลี่ยนไปแล้วตลอดกาล อะไรจะเป็นสิ่งที่มาอธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้ สิ่งเลวร้ายหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นโควิด ฝุ่น PM2.5 สงครามยูเครนรัสเซีย ภาวะเงินเฟ้อในรอบ 40 ปี คล้ายๆ กับว่า เราอาจแค่บังเอิญซวยมากๆ ที่เหตุการณ์เหล่านี้มาเกิดขึ้นพร้อมๆ กันพอดี กลายเป็น Perfect Storm?

ผมเองก็ไม่รู้หรอกว่าแบบไหนถูก แต่โดยส่วนตัว ถ้าให้คิดหาเหตุผลว่า โลกเราได้เปลี่ยนไปแล้วตลอดกาลเพราะอะไรได้บ้าง แบบหนึ่งที่คิดออกคือ ที่ผ่านมา เราได้ exploit โลกใบนี้มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการผลาญทรัพยากร การทำลายสิ่งแวดล้อม ระบอบทุนนิยมที่ต้องเติบโตต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด ความเหลื่อมล้ำทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นมา ฯลฯ และตอนนี้มันก็ได้มาถึงขีดจำกัดที่โลกจะรับไหวแล้ว โลกของเราก็เลยฟ้องออกมาด้วย สภาพภูมิอากาศที่ผิดเพี้ยน โรคระบาด สงคราม

ซึ่งถ้าหากแนวคิดนี้เป็นจริง ต่อให้โควิดจบ แล้วเรากลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมกันใหม่ บริโภคกันแบบเดิม เร่งโตกันแบบเดิม ทุกคนอยากรวยกันแบบเดิม ผมเชื่อว่า สักพักหนึ่ง โลกของเราก็จะพังใหม่อีก เหมือนการเดินเครื่องยนต์ที่เกินกำลังของมัน ถ้าไม่เกิดโรคระบาดตัวใหม่อีกก็อาจเกิดเหตุการณ์ประหลาดๆ อะไรสักอย่างที่รุนแรงไม่แพ้กัน ซึ่งเดาได้เลยว่า เมื่อภัยพิบัตินั้นผ่านไป โลกของเราก็จะพยายามกลับไปเป็นอย่างเดิมอีก เพราะเราถูกปลูกฝังมาให้พุ่งทะยานไปข้างหน้า แล้วสักพักภัยพิบัติใหม่ก็จะโผล่มาอีก เหมือนการพยายามเดินเครื่องยนต์เกินกำลังไปเรื่อยๆ  สุดท้ายก็คงถึงจุดที่ภัยพิบัติทำให้ไม่มีทางกลับมาทำแบบเดิมได้อีกต่อไป จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราถึงจะหยุดพยายาม ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ โลกก็คงต้องสูญเสียหนักไปมากแล้ว

ขออย่าให้เป็นแบบนั้นเลย ขอให้ผมคิดผิด

รูเบนแซนวิช

ส่วนประกอบ

  • ขนมปังแผ่นแบบใดก็ได้ที่ชอบ 2 แผ่น
  • พาสตามี่แล่บางที่สุด 3-4 แผ่น
  • เชลด้าชีสแผ่น 2 แผ่น
  • ผักดองซาวด์เคราวน์ 1/4 ถ้วย
  • มัสตาส จำนวนหนึ่ง
  • เนยเค็ม จำนวนหนึ่ง

วิธีทำ

  1. นำขนมปังแผ่นมาทาเนยเค็มหนึ่งด้านทั้งสองแผ่น ควรใช้เนยเยอะสักนิดจะดูน่ารับประทาน
  2. วางพาสตามี่ลงบนขนมปังแผ่นหนึ่ง จากนั้นตามด้วยเชลด้สชีสเรียงหน้า
  3. นำทั้งหมดไปอบในเตาเอาหรือเตาปิ้งขนมปัง จนขนมปังกรอบสวย ชีสยืด
  4. นำออกจากเตา แล้วเรียงหน้าด้วยผักดองบนชีอีกที (ดูวิธีทำผักดอง)  เติมมัสตาสตามใจชอบ ประกบแผ่นขนมปัง แล้วนำไปเสิร์ฟได้เลย

หมายเหตุ

ที่จริงแล้วถ้าเอาขนมปังไปทอดในกระทะเทฟรอน จะได้ผิวหน้าที่มีรอยเกรียมๆ เล็กน้อย ดูน่ารับประทานกว่าการปิ้ง และถ่ายรูปลงไอจีก็จะสวยกว่า แต่ข้อเสียคือยุ่งยากกว่า และจะทำให้ชีสยืดด้วย ก็จะทำยากกว่าในกระทะ ดังนั้น เพื่อความสะดวกในฐานะของอาหารเช้ากินง่ายๆ ผมเลยเลือกใช้เตาอบมากกว่า