ปรัชญาชีวิตใหม่หลังเข้าสู่วัยกลางคน

ผมเกิดมาในยุคที่โลกมีความมั่นคงแน่นอนสูง ผมจึงถูกสอนให้วางแผนทุกอย่างเพื่ออนาคตข้างหน้า อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ทำงานหนักและออมเงินตลอดชีวิตเพื่อวัยเกษียณจะได้สบาย

แต่โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก โลกหมุนเร็ว ไม่มีอะไรจิรังยั่งยืน หาความแน่นอนแทบไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำก็มหาศาล ไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะไม่รู้สึกอินกับวิธีคิดแบบคนรุ่นผม ไม่รู้จะหวังน้ำบ่อหน้าขนาดนั้นไปเพื่ออะไร ในเมื่อเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เมื่อวันนั้นมาถึง สิ่งที่เราพยายามสร้างมาตลอดชีวิตมันจะยังพึ่งพาได้อยู่มั้ย บางทีความเหลื่อมล้ำที่ถ่างขึ้นก็ทำให้ต่อให้ไม่ใช้เงินเลยตลอดชีวิตก็ยังเข้าถึงเป้าหมายเหล่านั้นไม่ได้ด้วย ผมจึงไม่โทษที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะใช้เงินเพื่อหาความสุขในปัจจุบันก่อน มันคือหลักเศรษฐศาสตร์ธรรมดาที่เมื่อความไม่แน่นอนสูงขึ้น คนเราย่อมให้น้ำหนักกับปัจจุบันมากกว่า

ผมเองก็เริ่มที่จะเห็นด้วยกับวิธีคิดแบบนี้ มันสอดคล้องกับโลกยุคนี้มากกว่า แทนที่จะเราทนลำบากตลอดชีวิตเพื่อให้เรารวยแค่ตอนแก่ เราน่าจะเปลี่ยนมาทำให้ตัวเองมีความสุขสบายบ้างในตอนหนุ่มด้วย คือเฉลี่ยความสุขของเราออกไปตลอดชีวิต จริงๆ แล้วคนเราไม่จำเป็นต้องรวยก่อนก็มีความสุขก็ได้ ลองหันมามองหาความสุขแบบที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะมากซึ่งสามารถหาได้ตั้งแต่วันนี้เลย บางทีที่เราอยากรวยก็เป็นเพราะคนรอบข้างกดดันเรา ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของเรา

ชีวิตต่อไปของผมหลังจากนี้คงเป็นแนวสุขนิยมเป็นหลัก เลิกคิดว่าจะต้องประสบความสำเร็จอะไรก่อนแล้วค่อยมีความสุข แต่มุ่งตรงไปที่การหาความสุขเป็นหลัก เน้นความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินมาก ได้ทำสิ่งที่ต้วเองต้องการจริงๆ คนอื่นเขาจะอยากได้อะไรก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ต้องไปสนใจ น่าจะเป็นกลยุทธ์การดำเนินชีวิตที่ดีกว่าเดิม

แผนการกินสำหรับปี 2024 (อีกแล้ว)

ปีหน้าก็คงจะทำ OMAD ทุกวันพฤหัสต่อไป เพราะถ้าไม่ทำคงควบคุมน้ำหนักไว้ไม่ได้ (เจอบุฟเฟ่ต์บ่อย)​

ส่วนวันอื่นๆ นั้น มื้อเช้า คือ โยเกิร์ต ถั่ว เบอรรี่ ไข่ลวก (ขอกลับมากินโยเกิร์ตอีกครั้ง ยอมแพ้เป้าหมายลดโลกร้อนไปก่อน)

มื้อกลางวันและเย็นต้องกินนอกบ้านเป็นหลัก เนื่องจากเหตุผลเรื่องความสะดวก ถ้าจะทำกินเอง จะเปลี่ยนมาทำแค่อาหารจำพวกสุกี้ (ชาบู นาเบะ ผัดหมาล่า) และสลัดต่างๆ เท่านั้น หรือไม่ก็มีแค่ผลไม้ติดตู้เย็นไว้ เช่น แอ็ปเปิ้ล กิมจิ อะโวกาโด เท่านั้น ถ้าจะทำอาหารคาวกินอย่างอื่นกินเอง คงต้องเป็นโอกาสพิเศษที่อยากลองทำจริงๆ เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาพบว่าไม่มีเวลากินอาหารที่ตัวเองทำ ทำให้ยิ่งทำยิ่งอ้วน เพราะต้องกินให้หมด

ร้านประจำนอกบ้านจะเป็นร้านที่อยู่ทางผ่านเวลาเดินทาง อร่อย และราคาย่อมเยา เป็นหลัก อาทิ ร้านราดหน้าและส้มตำแถวคอนโด, ร้านอินเตอร์สยาม , หอยทอดชาวเล, บะหมี่สว่าง, ข้าวหมูแดงธานี, ข้าวมันไก่โกตา, Eat Am Are หรือไม่ก็ Yakiniku Like

น่าจะเป็นแผนที่มินิมัล และ Productive ที่สุดแล้ว

Reinventing myself

เวลาถูกถามว่า ถ้ามีเงินเยอะพอแล้ว คุณจะทำอะไรต่อไป คำตอบที่มีคนตอบมากที่สุดคือ เที่ยวรอบโลก

แต่การศึกษาพบว่า คนที่เกษียณเร็ว มักจะไปท่องเที่ยวแค่ประมาณ 3-4 ปีแรกเท่านั้น แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็จะอยู่เฉยๆ (ไปอีกนานมาก)​

โดยส่วนตัว ผมพบว่า คนเราไม่ได้อยากบริโภคไปเรื่อยๆ จนตาย แต่เราอยากรู้สึกว่าเรามีค่าได้ และงานประจำก็ให้สิ่งนี้แก่เราโดยอัตโนมัติ พอไม่มีงาน กลายเป็นเราต้องกระเสือกกระสนหาคุณค่าให้ตัวเอง กลายเป็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง

ณ ตอนนี้ ถ้าถามผม เกษียณแล้ว ผมอยากทำอะไรที่สุด ผมคิดว่า ผมอยากทำงานต่อไป เพราะยังไงๆ เราก็ยังต้องการความรู้สึกว่าตัวเองมีค่าจากงาน เพียงแต่พอมีเงินแล้ว เราสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานอะไร ดังนั้นการได้ทำงานที่ตัวเองรักไปตลอดชีวิตน่าจะเป็นการเกษียณที่มีความสุขที่สุด มากกว่าการไปเที่ยวรอบโลก

งานที่มีเป้าหมายที่จะต้องบรรลุให้ประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะได้มีแรงผลักนั้น ถ้าเป็นตอนหนุ่มๆ ก็น่าทำอยู่หรอก แต่พอแก่ตัวลง มันกลายเป็นกับดัก เพราะสุขภาพที่แย่ลง ข้อจำกัดที่มากขึ้น ทำให้เราไม่อาจลุยงานได้มากเหมือนแต่ก่อน ฉะนั้นงานหลังเกษียณควรเป็นงานที่ให้ความสุขกับเราได้แค่เพียงได้ทำ ไม่จำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายอะไรที่ยิ่งใหญ่คับฟ้า คล้ายกับสิทธารถะในวัยสี่สิบที่เลือกจะเป็นแค่คนขับเรือข้ามฝาก ทำอะไรซ้ำๆ กันทุกวัน ดังนั้นงานที่ผมอยากทำก็คงเป็นเพียงแค่งานอะไรก็ได้ ที่ทำให้เราได้อยู่กับสิ่งที่เรารักทุกวัน

ตอนนี้คิดว่าถ้าเราได้เป็นครูสอนกีต้าร์ หรือครูสอนภาษา หรือทำช่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี ก็น่าจะเป็นคำตอบแล้ว เหล่านี้เป็นงานเพราะมันสร้างรายได้ และพวกมันก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ผมอยากทำในวัยนี้ ปัญหาตอนนี้ก็คงเหลือแค่การ reinvent ตัวเองให้มีคุณสมบัติที่จะไปทำงานเหล่านี้ได้ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ก็จะลองดูสักตั้ง

My Routine 2023

  • Push up 100
  • Chinese Podcasts
  • Practise Guitar
  • To the Gym
  • Home Cooking
  • Study Time
  • Watch Series

Four pillars of my life

  1. Health – Food Science
  2. Tech Investing – Youtube Podcasts
  3. Mandarin – Italki
  4. Acoustic Guitar – Compose songs

ความสุขของฉัน

  • เข้าสปาหรือฟิตเนสทั้งวัน ลืมโลกภายนอกไปชั่วคราว เดินออกมาเหมือนเกิดใหม่
  • ได้ดูหนังหรือซีรีส์ฟิวกู้ดสักเรื่อง ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ยังอดคิดถึงมันไม่ได้
  • ได้เจอคนที่นิสัยดีๆ หรือคนที่มีบุคลิกที่น่าสนใจ หรือคนได้พูดคุยกับคนที่คุยเรื่องที่สนใจเหมือนๆ กัน แบกออกรส หรือเป็นคนที่มีวิถึชีวิตที่ต่างกับเรามากๆ เหมือนได้เปิดโลก
  • ได้เรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้รู้สึกเปิดกะลา
  • สายตากลับมาดีเหมือนเดิม อ่านหนังสือทั้งวันก็ไม่ปวดตา จะไปนั่งอ่านหนังสือในร้านกาแฟทุกวันเลย
  • เล่นดนตรีสักชิ้นได้ดีมากๆ เหมือนเป็นอวัยวะที่ 33
  • เขียนนิยายสักเล่มจบ ไม่ต้องดังก็ได้ แต่ขอให้มีเนื้อเรื่องที่เราชอบมันจริงๆ
  • เป็นเจ้าของร้านอาหารสักร้าน ที่มีอาหารที่เราชอบจริงๆ และคนอื่นๆ ก็ชอบมันมากๆ เป็นร้านที่เลี้ยงตัวเองได้ และเราไม่ต้องเฝ้ามันทั้งวัน

มานั่งเขียนอะไรแบบนี้ทำให้ค้นพบตัวเองเหมือนกันว่า เราไม่ได้ชอบวัตถุ แต่เราชอบประสบการณ์ดีๆ และทักษะดีๆ มากกว่า

ชีวิตคนเรามีหลายด้าน อยากลองมีชีวิตแบบอื่นบ้าง

ผมพบว่า ตอนนี้ไอดอลของผมหลายคน ล้วนเป็นคนที่เลือกอาชีพที่ตัวเองชอบเป็นหลัก และแทบจะไม่สนใจความคาดหวังของสังคมเลย คนหนึ่งเลือกที่จะทำ DIY และหาเงินผ่านช่องยูทิวบ์เรื่อง DIY, อีกคนหนึ่ง เรียนมาซะสูงเลย เลยสุดท้ายกลับไปเป็นครูสอนเด็กมัธยม เพราะชอบงานสอน แล้วก็เปิดร้านกีต้าร์ เพราะชอบกีต้าร์มาก ทั้งที่มันเป็นธุรกิจที่รอดยากมาก อีกคนก็เลือกที่จะไม่ทำงานประจำ แต่ทำช่องเกี่ยวกับภาษาจีน เพราะรักภาษาจีนมาก ยอมมีรายได้น้อยมาก เพราะอยากทำแต่สิ่งที่รักทุกวัน อีกคนก็เป็นเจ้าของแนวคิด หาเงินได้มากแค่พอจะไปกินชาบูชิเมื่อไหร่ที่อยากกินได้ก็พอ แล้วเวลาที่เหลือจากนั้นของทำสิ่งที่รักดีกว่า

ผมน่าจะเป็นคนที่ไม่กล้าทำอะไรแหกขนาดนั้น ก็เลยยังแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ระหว่างความต้องการของตัวเอง กับความคาดหวังของสังคม ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำให้รู้สึกเหมือนกันว่าอาจใช้ชีวิตไม่เต็มที่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การทำตามความคาดหวังของสังคม มันก็ให้ความมั่นคงในชีวิตมากกว่า ก็ยังดีที่พออายุมากขึ้น เริ่มมีเงินออมแล้ว (กินชาบูชิได้)​ ก็เลยหันมาหาความต้องการของตัวเองมากกว่าเดิม

ช่วงนี้มีความรู้สึกว่า ชีวิตช่วงที่ผ่านมาต้ังแต่เด็ก เราถูกปลูกฝังให้หาเงินเป็นหลัก และถูกวัดค่าจากความสามารถในการหารายได้ ในขณะที่ไม่ใช่ทุกคนในสังคมที่จะเป็นเหมือนเราไปหมด ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการหารายได้มากขนาดนั้น แต่พวกเขามีอย่างอื่นที่ใช้ตีค่าของตัวเองมากกว่า และมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศในเรื่องนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ทำเงินมากก็ตาม บางทีเราก็รู้สึกว่าคนเหล่านั้นเขาก็มีความสุขเหมือนกัน และเราเองก็ไม่จำเป็นต้องมองเรื่องรายได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเสมอไป ถ้าได้มีโอกาสได้ลองชีวิตแบบอื่นๆ บ้างก็น่าจะดี

ความคิดในหัวช่วงนี้ก็จะประมาณนี้ อาจจะดูเฟ้อเจ้อไปหน่อย ต้องขออภัยคนที่หลงเข้ามาอ่านด้วย

สิ่งที่ผมเกลียดเกี่ยวกับสังคมเอเชีย

หนึ่งในสิ่งที่ผมเกลียดมากที่สุดเกี่ยวกับสังคมเอเชียคือ การเป็นสังคมที่แบ่งชนชั้นกันด้วยวัยวุฒิ

ถ้าคุณแก่อายุสัก 80 คุณจะเป็นเหมือนพระเจ้าในสังคมเอเชียเลย คุณไม่ต้องเกรงใจใครทั้งนั้น ทุกคนต้องเกรงใจคุณ ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณยังเด็ก คุณก็ไม่ต่างอะไรจากขี้ข้า

ดูผิวเผินก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีที่เป็นสังคมที่มีสัมมาคารวะ ผู้น้อยให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่ ตอนเด็กๆ ผมก็คิดแบบนั้น แต่ในทางกลับกัน มันคือวัฒนธรรมที่ส่งเสริมอัตตา

คนเรายิ่งแก่ตัวลง เรายิ่งผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากกว่าคนอื่น มันยิ่งสมควรที่จะเป็นเราที่เป็นผู้ที่มีปัญญาพอที่จะตกเป็นทาสของอัตตาของตัวเราเองน้อยกว่าคนอื่น เรายิ่งต้องฟังคนอื่นมากขึ้น อ่อนน้อมถ่อมมากขึ้น รู้จักถอยให้คนอื่นมากขึ้น แต่สังคมวัยวุฒิ ยิ่งแก่เราจะยิ่งรู้สึกลำพอง เพราะเราอยู่สูงกว่าคนอื่น ใครๆ ก็ต้องไหว้เราทั้งนั้น สุดท้ายแล้วกลายเป็นคนยิ่งแก่ก็ยิ่งอีโก้จัด ไม่ได้เป็นคนแก่แบบโยดา

อันที่จริงคุณค่าของคนเราไม่ควรวัดจากอายุ แต่ควรวัดจากสิ่งที่เรากระทำหรือคุณค่าของคนๆ นั้นที่มีต่อสังคมมากกว่า คนหัวหงอกเป็นโจรก็มีเยอะเยอะไป ไปหาดูได้ในเรือนจำ คนอายุน้อยก็ควรจะสามารถขัดผู้ใหญ่ได้ มาสู้กันด้วยเหตุและผลล้วนๆ ไปเลยดีกว่า อย่าไปนับผมหงอกบนหัวแข่งกันเลย

แม้แต่ตัวผมเอง เวลามีคนที่เด็กกว่ามาพูดอะไรที่ฉลาดกว่า ผมก็มักจะรู้สึกโกรธ รู้สึกเสียหน้า โดยอัตโนมัติ เพราะสังคมเอเชียมันปลูกฝังให้เรามองคุณค่าของจากอายุ แต่ถ้าสังคมของเราไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบนี้ เวลาที่เด็กมาพูดอะไรฉลาดกว่าผม ผมก็คงไม่ได้รู้สึกเสียหน้าอะไร ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดีกว่ามิใช่เหรอ

องค์กรแบบไทยเป็นองค์กรที่ผลิตภาพต่ำมาก ไม่มีใครกล้าขัดคอเจ้านาย ไม่มีใครกล้าทำตัวเด่นกว่ารุ่นพี่ แต่บางที ผู้น้อยก็อาจเป็นคนที่มีไอเดียที่ดีกว่าผู้ใหญ่ก็ได้ ถ้าหากผู้น้อยสามารถพูดได้อย่างอิสระ สิ่งที่ดีก็จะถูกนำมาปรับปรุงแก้ไของค์กรให้ดีขึ้นได้

วัยวุฒินิยมเป็นอะไรที่ฝังรากลึกมากในสังคมเอเชีย เวลาที่ผมเปิดเผยความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมก็มักจะถูกเกลียดชัง ราวกับว่าเป็นคนที่ชั่วชาติมากที่มีความคิดแบบนี้ แต่นอกบริบทของสังคมเอเชีย ผมเชื่อว่า ความคิดแบบผม เป็นเรื่องที่ธรรมดาเอามากๆ

เป้าหมายระยะยาว ณ ตอนนี้

เขาเป็นชายวัย 50+ ผอม ผมสั้น ใส่แต่เสื้อยืด กางเกงยีน รองเท้ากีฬา ไม่ขับรถส่วนตัว มีความภาคภูมิใจในความเป็นมนุษย์ low carbon เขาไม่ได้ทำงานประจำ แต่ออมเงินส่วนใหญ่ไว้ในตลาดหุ้น ซึ่งเขาใช้เวลาน้อยมากในการดูแลพอร์ต เพราะเขาลงทุนระยะยาวๆ เท่านั้น

ทุกเช้าเขาจะวิดพื้นวันละ 100 ครั้ง หรือไม่ก็ทำ core training ช่วงเช้า และในแต่ละสัปดาห์เขาจะไปวิ่งออกกำลังกายให้ได้สามครั้ง ครั้งละ 30 นาที เหมือนคำแนะนำทางสุขภาพ นอกจากนี้ เขายังเป็นคนส่วนน้อยในโลกเวลานี้ที่ไม่ติดโซเซี่ยล! เขาบล็อกมือถือตัวเองไว้ไม่ให้ไถหน้าจอได้ตั้งแต่สองทุ่มยังแปดโมงเช้า

เขากินอาหารได้ทุกอย่าง แต่กินแป้งและน้ำตาลน้อย เพิ่มผัก ผลไม้ ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่ไม่ใช่ส่วนประกอบหลักของมื้ออาหาร เขาดื่มแต่น้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มเท่านั้น ทำอาหารกินเองบ้าง งดมื้อเย็นบ้าง เขาพยายามสร้างแนวคิดของการทำอาหารที่ปรุงง่าย ใช้ส่วนผสมน้อยๆ ได้สุขภาพ แต่ในเวลาเดียวกันก็อร่อยด้วย อย่างไรก็ตามทุกสัปดาห์จะมีอย่างน้อย 1-2 มื้อที่เขาไปกินอาหารอร่อยๆ เพื่อสังสรรค์กับคนอื่น เขาเชื่อในการแสวงหาความสุขง่ายๆ ให้กับตัวเอง

ทุกวันเขาจะใช้เวลาสักสองชั่วโมงสำหรับการอัพเดทข่าวสาร เทคโนโลยี ท่องเน็ตอยู่ที่บ้าน เปิดแอร์เย็นๆ ฟังเพลง ฟังพอสแคส ขีดๆ เขียนๆ แต่บางวันก็อาจไปนั่งร้านกาแฟเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศด้วย ความสุขของเขาคือการได้เสพความรู้โดยเฉพาะความรู้ใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน เขายังใจกว้างและกระตือรืนร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เขาแบ่งปันความรู้ของเขาผ่านรายการพอดแคสที่เขาจัดอยู่

กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของเขาได้แก่ การดูซีรีส์หรือหนังดีๆ ดูยูทิวบ์รายการโปรด เข้าสปาร้านนวดบ้างนานๆ ที เขาเล่นกีต้าร์วันละ 15 นาที อ่านหนังสือยาวๆ วันละ 15 นาที ฝึกภาษาจีนวันละ 15 นาที เขาเชื่อในการฝึกฝนทักษะวันละนิด แต่ทำให้ได้ทุกวันต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้น

ปรัชญาชีวิตประจำตัว

คนเราส่วนใหญ่เสียพลังงานและเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับการทำให้คนรอบข้างยอมรับ เราอยากมีและอยากเป็นในสิ่งที่สังคมและคนรอบข้างกำหนดมาให้ เราไม่ได้อยากมีและอยากเป็นในสิ่งเหล่านั้นจริงๆ แต่มันเป็นเพียงแค่ประตูไปสู่การได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างมากกว่า

ที่มันเจ็บปวดก็คือ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ที่เราพยายามเอาใจเขานั้น ไม่ใช่คนที่รักเรา พวกเขาเป็นใครก็ไม่รู้ หรือในหลายกรณี พวกเขาเป็นคนที่เกลียดเรา อิจฉาเรา ดูถูกเรา ไม่อยากให้เราได้ดีด้วยซ้ำ แต่เราก็ยอมเสียพลังงานและเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตเพื่อให้คนเหล่านั้นยอมรับเราให้ได้ แทนที่เราจะเอาเวลาเหล่านั้นไปทำเพื่อตัวเราเองหรือเพื่อคนที่รักเราจริงๆ มันเสียชาติเกิดก็ตรงนี้แหละ

แทนที่เราจะใช้ชีวิตเหมือนคนส่วนใหญ่ ทำไมเราไม่กลับมามองความต้องการของตัวเราเองจริงๆ เลิกแคร์สายตาหรือความคาดหวังของคนอื่น อยากทำอะไรในชีวิตก็ทำเลย ทำให้ตัวเราเองมีความสุขมากที่สุด ในแบบของเราเอง โดยที่ไม่ต้องไปสนใจว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเรา แบบนี้เราก็จะใช้ชีวิตในแบบที่มีอิสระภาพ มีกดดัน และที่สำคัญก็คือใช้มันอย่างคุ้มค่าจริงๆ

ความสุขของผม

ณ ตอนเวลานี้ ผมคิดว่าความสุขของผมคือ

  • การได้สร้างสรรค์อะไรบางอย่าง เช่น สร้างบล็อกดีๆ สร้างแอพดีๆ สร้างร้านออนไลน์ที่เก๋ๆ แต่งเพลง เขียนนิยาย ของตัวเอง
  • ได้เสพงานสร้างสรรค์เหล่านั้นของคนอื่น เช่น ดูหนังซีรีส์ดีๆ สักเรื่อง อ่านหนังสือดีๆ ฟังเพลงเจ๋งๆ
  • ได้รู้สิ่งใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้อ่านบทความดีๆ ดูคลิปสาระความรู้ดีๆ พร้อมกับจิบกาแฟไปด้วย (แต่น่าเสียดายที่กินกาเฟอีนไม่ได้แล้ว) ในร้านกาแฟบรรยากาศดีๆ เปิดแอร์เย็นๆ
  • ได้กินอาหารอร่อย ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นความอร่อย
  • เดินออกมาจากสปาตัวเบาหวิว รู้สึกสบายตัวและสบายใจ ใจเย็นๆ ไม่มีอะไรที่ทำให้รู้สึกรีบร้อน มีสมาธิอยู่กับตัวเอง มองโลกเหมือนเพิ่งเคยเห็นโลกเป็นครั้งแรก
  • ได้พบปะคนดีๆ หรือคนที่มีอะไรบางอย่างที่พิเศษ ได้เสวนาอย่างออกรสกับคนเหล่านั้น แล้วรู้สึกเหมือนได้เปิดโลก

จะพยายามทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้มากที่สุดนับต่อนี้ไปครับ ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้นานๆ สิ่งที่ต้องดูแลให้ดีเป็นอย่างมากเลย ก็คือสุขภาพ