Schopenhauer และจุดมุ่งหมายของชีวิต

ปรัชญาของโชเฟนฮาวเออร์ได้รับอิทธิพลมาจากการที่เขาสนใจและพยายามต่อยอดปรัชญาของ Emmanuel Kant และต่อมาเขาก็พบภายหลังด้วยว่า แนวคิดของเขามีความคล้ายคลึงกับปรัชญาอินเดียมาก ทำให้เขาเริ่มสนใจปรัชญาอินเดียด้วย

โชเพนฮาวเออร์ สังเกตว่า จักรวาลนี้น่าจะต้องมีแรงบางอย่างที่ขับเคลื่อนอยู่ข้างหลังทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเขาก็ไม่ได้อธิบายมากนักว่าแรงที่ว่านี้มาจากไหน เขาเพียงแต่มีสมมติฐานว่ามันน่าจะมีอยู่ ซึ่งในตัวมนุษย์เองก็มีแรงที่ว่านี้อยู่ด้วยเช่นกัน เรียกว่า Will to Live ที่คอยผลักดันให้เราอยากทำสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้ายกับกิเลสในปรัชญาของอินเดียมาก

แต่โชเพนฮาวเออร์มองว่า ต่อให้คนเราพยายามตอบสนอง Will to Live ของเรายังไง ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เรามีความพึงพอใจได้ในระยะยาว เพราะแรงนี้เป็นแรงที่ไม่มีที่สิ้นสุด ได้แล้วก็ต้องการมากขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้วการพยายามแสวงหาความสุข จึงมักนำไปสู่ความผิดหวังในที่สุด ปรัชญาของเขาได้ชื่อว่าเป็นแนวมองโลกในแง่ร้ายด้วย เพราะเหมือนเราถูกสร้างมาเพื่อให้ผิดหวังในที่สุด (ซึ่งส่วนนี้นับว่าต่างจากปรัชญาอินเดีย ซึ่งมองว่ามีวิธีการที่จะพ้นทุกข์อยู่)​

อย่างไรก็ตาม โชเพนฮาวเออร์ก็มองว่า แม้ว่าความสุขทุกรูปแบบจะแย่หมด แต่ความสุขบางแบบก็แย่น้อยกว่าแบบอื่น ตัวอย่างเช่น การหาความสุขด้วยการแสวงหาวัตถุมาบริโภคหรือครอบครองนั้นเป็นวิธีที่แย่ที่สุด เพราะไม่มีวันจบสิ้น เมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ไม่นานนักก็จะเบื่อใหม่ เพราะรู้สึกว่าชีวิตที่มีทุกอย่างนั้นเป็นชีวิตที่ว่างเปล่าไร้ความหมาย ทำให้ต้องหาความต้องการอย่างใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่การหาความสุขบางประเภท เช่น เสพศิลปะ แสวงหาจริยธรรม แสวงหาความรู้ สร้างมิตรภาพ ฯลฯ นั้นเลวน้อยกว่า เนื่องจากเป็นความสุขที่เสพไปเรื่อยๆ ไม่มีเส้นชัย ทำให้เราสามารถอยู่กับมันได้นานกว่าบางทีก็ตลอดชีวิต [แนวคิดคล้ายๆ กับ Epicurus อยู่นะ] สุดท้ายแล้วคนเราอาจทำได้แค่นี้ คือพยายามเลือกอยู่กับความสุขประเภทที่ไม่ทำให้เราเจ็บปวดมากนักไปตลอดชีวิต พยายามไม่คาดหวังสูงก็จะไม่ผิดหวังมากเกินไป

พิษของโซเซี่ยลเน็ตเวิร์ก

บางคนบอกว่าโซเซี่ยลเน็ตเวิร์กทำให้สมาธิสั้นลง บางคนบอกว่าทำให้คิดอะไรที่ลึกซึ้งได้น้อยลง บางคนบอกว่าทำให้ไม่มีความสุข ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า ฯลฯ ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่ามีส่วนจริงทั้งนั้น แต่มีเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้ยินใครพูด ผมเชื่อว่า โซเซี่ยลเน็ตเวิร์กยังทำให้เรากลายเป็นคนที่มีความสุขกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

โซเซี่ยลเน็ตเวิร์กทำให้เราได้พบเห็นสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น เยอะขึ้น เร็วขึ้น โลกใบเล็กลง เราอยู่ในยุค the age of abundance เป็นยุคที่มีตัวเลือกอยู่มากเกินไปจนเลือกไม่ถูก ตาลายไปหมด และการที่มีตัวเลือกมากขึ้น ก็ทำให้เวลาที่เรามีให้ตัวเลือกแต่ละตัวมีน้อยลง เพราะกลัวจะเสียโอกาสที่จะได้พิจารณาตัวเลือกอื่น แต่ละโพสต์ในฟีดของเรา เรามีเวลามองแค่โพสต์ละ 3 วินาทีเท่านั้น ก่อนที่เราจะไถปัดมันขึ้นไป เพราะในหนึ่งวันมีโพสต์ให้เราต้องดูนับพันๆ โพสต์ พรุ่งนี้ก็มีมาใหม่อีกพันโพสต์ เรามีเพลงให้ฟังใน spotify มากกว่า 2 ล้านเพลง มีหนังให้เลือกดูในเน็ตฟลิกซ์นับหมื่น เมื่อเราอยู่ในโลกแบบนี้นาน ๆเข้า ทุกอย่างจะดูดาษดื่นไปหมด ดูธรรมดา ไม่ว้าว เราจะเริ่มตื่นเต้นหรือซาบซึ้งกับอะไรได้ยากขึ้น

ตอนประถมผมไปดูหนังสตาร์วอร์ส จำได้ว่า หลังจากนั้นอีกสามเดือน ผมก็ยังคลั่งไคล้มันอยู่ มันสนุกเหลือเกิน พอตอนแก่ ผมลองกลับมาดูมันใหม่ หวังว่าจะได้รับความสนุกแบบนั้นอีก แต่ปรากฏว่า ผมหลับภายใน 20 นาทีแรก ผมรู้สึกว่ามันน่าเบื่อเหลือเกิน และแปลกใจว่าทำไมตอนเด็กๆ ผมถึงได้รู้สึกสนุกกับมันได้มากขนาดนั้น ที่จริงแล้ว มันก็หนังเรื่องเดียวกัน แค่สิ่งที่ต่างออกไปคือ ตอนเด็กๆ ผมไม่มีทางเลือกมากนักที่จะมีความสุข หนังสตาร์วอร์สจึงมีค่ามีความหมายต่อผมมากๆ เหมือนสิบปีมีเรื่องเดียว ต่างจากตอนนี้ ที่หนังแบบนั้นมีให้ดูได้มากอย่างไม่มีดูหมด แต่ผมกลับไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับหนังนับพันเรื่องเหล่านั้นเลย เราเจอหนังที่เรารู้สึกประทับใจมากๆ ได้ยากขึ้นทุกวัน ทั้งที่มีหนังให้เราดูมากกว่าเดิมหลายเท่า

การไถหน้าจอช่วยแก้เบื่อได้แบบปัจจุบันทันด่วน ไม่นานนัก เราก็เสพติดมัน พอว่างไม่มีอะไรทำสักสิบวินาที เราก็ไถหน้าจอ แต่ผลของการทำเช่นนี้เป็นประจำก็คือ เราจะเริ่มกลายเป็นคนที่เบื่อง่ายขึ้นเรื่อยๆ เหมือนตายด้าน มีความสุขกับอะไรได้ยากขึ้น เหมือนสมองของเราเริ่มดื้อยา พูดอีกอย่างก็คือ โซเซี่ยลให้ความสุขเราในระยะสั้น แลกกับการหมดสมรรถภาพในการมีความสุขกับสิ่งตางๆ ในระยะยาว ซึ่งคิดแล้วมันเลวร้ายกว่าการทนเบื่อประจำวันเสียอีก

ผมว่ายาเสพติดเช่น เฮโรอีน ที่จริงแล้วไม่น่ากลัว เหตุเพราะเรารู้ดีอยู่แล้วว่ามันมีโทษ เราจึงไม่เข้าหามันตั้งแต่แรก แต่การติดโซเซี่ยลนี่สิที่น่ากลัวกว่า มันมีทั้งข้อดีและไม่ดี ทำให้เราไม่รู้สึกผิดที่จะเสพติดมัน เราอาจบอกตัวเองว่าโซเซี่ยลทำให้เราได้รับรู้โลก เรากำลังรับรู้โลกอยู่ กำลังแสวงหาความรู้อยู่ เราไม่ผิด เราจึงไม่รู้สึกผิดที่จะใช้มันแบบไร้ขีดจำกัด เราจึงติดมันได้ง่ายกว่าเฮโรอีนเยอะ ใครมาเตือนเรา เราก็มีเหตุผลดีๆ นับล้านวิธีที่จะด่ากลับไป

โลกเรามาถึงจุดที่เราเลิกใช้โซเซี่ยลโดยสิ้นเชิงไม่ได้แล้ว เพราะทุกคนใช้มันทำทุกอย่างไปแล้ว แต่ผมคิดว่าเราควรมีวิธีจำกัดการเล่นของเรา ก่อนที่สักวันหนึ่งมันจะทำให้เรา ไม่สามารถมีความสุขกับอะไรได้เลย ชีวิตแบบนั้นมันน่ากลัว

ฤาโลกได้เปลี่ยนไปแล้วตลอดกาล

หลังจากโดนโควิดเล่นงานมาตลอดสามปีเต็ม โลกของเราก็กำลังจะผ่านพ้นเคราะห์นี้ไปเสียที

บางคนคิดว่า ต่อจากนี้ไป โลกของเราก็จะค่อยๆ กลับสู่โลกแบบเดิมก่อนยุคโควิด แต่บางคนก็บอกว่า โลกของเราได้เปลี่ยนไปแล้วตลอดกาล มันจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป โควิดเป็นแค่ด่านแรก เรายังต้องเจออะไรอีกเยอะ

ไม่มีใครรู้อนาคตที่แน่นอน ไม่รู้ว่าความคิดแบบไหนกันแน่ที่ถูกต้อง เราอาจแค่ถูกหลอกด้วยเหตุการณ์ผิดปกติแค่เหตุการณ์เดียวในรอบหนึ่งร้อยปี แล้วพาลให้คิดไปว่าทุกอย่างจะแย่ลงตลอดไป หรือว่าจริงๆ แล้ว โควิดเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่มีใครรู้ว่าจะพิสูจน์หรือหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ยังไง

ถ้าหากทุกอย่างค่อยๆ กลับสู่โลกแบบเดิมก็ดีไป แต่ถ้าสมมติว่า โลกของเราเปลี่ยนไปแล้วตลอดกาล อะไรจะเป็นสิ่งที่มาอธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้ สิ่งเลวร้ายหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นโควิด ฝุ่น PM2.5 สงครามยูเครนรัสเซีย ภาวะเงินเฟ้อในรอบ 40 ปี คล้ายๆ กับว่า เราอาจแค่บังเอิญซวยมากๆ ที่เหตุการณ์เหล่านี้มาเกิดขึ้นพร้อมๆ กันพอดี กลายเป็น Perfect Storm?

ผมเองก็ไม่รู้หรอกว่าแบบไหนถูก แต่โดยส่วนตัว ถ้าให้คิดหาเหตุผลว่า โลกเราได้เปลี่ยนไปแล้วตลอดกาลเพราะอะไรได้บ้าง แบบหนึ่งที่คิดออกคือ ที่ผ่านมา เราได้ exploit โลกใบนี้มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการผลาญทรัพยากร การทำลายสิ่งแวดล้อม ระบอบทุนนิยมที่ต้องเติบโตต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด ความเหลื่อมล้ำทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นมา ฯลฯ และตอนนี้มันก็ได้มาถึงขีดจำกัดที่โลกจะรับไหวแล้ว โลกของเราก็เลยฟ้องออกมาด้วย สภาพภูมิอากาศที่ผิดเพี้ยน โรคระบาด สงคราม

ซึ่งถ้าหากแนวคิดนี้เป็นจริง ต่อให้โควิดจบ แล้วเรากลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมกันใหม่ บริโภคกันแบบเดิม เร่งโตกันแบบเดิม ทุกคนอยากรวยกันแบบเดิม ผมเชื่อว่า สักพักหนึ่ง โลกของเราก็จะพังใหม่อีก เหมือนการเดินเครื่องยนต์ที่เกินกำลังของมัน ถ้าไม่เกิดโรคระบาดตัวใหม่อีกก็อาจเกิดเหตุการณ์ประหลาดๆ อะไรสักอย่างที่รุนแรงไม่แพ้กัน ซึ่งเดาได้เลยว่า เมื่อภัยพิบัตินั้นผ่านไป โลกของเราก็จะพยายามกลับไปเป็นอย่างเดิมอีก เพราะเราถูกปลูกฝังมาให้พุ่งทะยานไปข้างหน้า แล้วสักพักภัยพิบัติใหม่ก็จะโผล่มาอีก เหมือนการพยายามเดินเครื่องยนต์เกินกำลังไปเรื่อยๆ  สุดท้ายก็คงถึงจุดที่ภัยพิบัติทำให้ไม่มีทางกลับมาทำแบบเดิมได้อีกต่อไป จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราถึงจะหยุดพยายาม ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ โลกก็คงต้องสูญเสียหนักไปมากแล้ว

ขออย่าให้เป็นแบบนั้นเลย ขอให้ผมคิดผิด

เริ่มชอบอาหารเกาหลี

ช่วงนี้หันมาทำอาหารเกาหลีแหลก ซึ่งเป็นอะไรที่แปลก เพราะก่อนหน้านี้ยอมรับว่ามีความเหยียดอาหารเกาหลีนิดๆ รู้สึกว่าเป็นอาหารที่มีความหลากหลายน้อย อะไรๆ ก็ใส่กิมจิ อะไรๆก็ใส่โคชูจัง

แต่ช่วงหลังๆ เริ่มเปลี่ยนความคิด อาหารชาตินี้มีผักให้กินเยอะมาก ถ้าหากทำกินเองที่บ้าน ไม่ได้กินแต่เนื้อย่าง และเป็นอาหารที่มีความเรียบง่ายในแบบของมัน ไม่แพ้อาหารญี่ปุ่นหรืออิตาเลียน คิดว่าต่อไปคงปรับเมนูบางตัวของอาหารเกาหลีเข้ามาเป็นเมนูอาหารที่กินประจำของผม

วิธีหนึ่งที่ช่วยให้การทำอาหารกินเองมีประสิทธิภาพคือการเลือกทำอาหารชาติใดชาติหนึ่งไปเลย เพราะวัตถุดิบที่ใช้จะคาบเกี่ยวกันหลายเมนูมากกว่า ทำให้มีของเหลือน้อยกว่า และโดยเฉพาะอาหารเกาหลี สามารถเอาผักที่กินเหลือๆ ไปทำ Buchimgae กินตอนจบได้อีกด้วย

ประสบการณ์หัดเล่นกีต้าร์ตอนอายุ 40+

สาเหตุที่ผมเพิ่งมาหัดเล่นกีต้าร์ตอนอายุปูนนี้เป็นเพราะก่อนหน้านี้เป็นคนที่หลงใหลเปียโนมาโดยตลอด ตอนเด็กเรียนเปียโนมาก็หลายหน แต่ก็ยังเล่นไม่เก่งอยู่ดี ฝันอยากไปถึงจุดที่สามารถเล่นได้โดยไม่ต้องดูโน้ต แต่ก็ไม่เคยไปถึงจุดนั้นได้เลย จนโตเป็นผู้ใหญ่ก็หายๆ จากการเล่นดนตรีไป เพิ่งจะมายอมรับความจริงภายหลังว่า สุดท้ายแล้วชีวิตนี้เราคงเล่นเปียโนไม่เก่งอย่างที่ฝันไว้หรอก ก็เลยลองเปิดใจให้กีต้าร์เอาตอนอายุ 40+

อันที่จริง ตอนวัยรุ่นเคยลองจับกีต้าร์ดูหนหนึ่ง เคยเรียนกีต้าร์คลาสสิกด้วย แต่เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ รู้สึกว่ามันยาก มีอะไรหลายอย่างที่เราไม่เก็ต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนคอร์ดให้เร็ว หรือการร้องไปด้วยเล่นไปด้วย รู้สึกว่าทำไม่ได้ ซึ่งก็แปลกเหมือนกันที่รอบนี้พอมาหัดเล่นใหม่ กลับพบว่ามันง่ายกว่าเดิมเยอะ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร อาจเป็นเพราะแก่ตัวขึ้น ฟังเพลงมาเยอะ อะไรที่เคยไม่เก็ต อยู่ดีๆ มันก็เก็ตขึ้นมาง่ายๆ ซะขนาดนั้น เป็นเรื่องแปลกแต่จริง

คำแนะนำสำหรับคนที่เริ่มต้นหัดเล่นกีต้าร์เลยก็คือ ลองเริ่มต้นจากการตีคอร์ดเพลงอะไรก็ได้ที่มีคอร์ดง่ายๆ สี่คอร์ดนี้ คือ G Am D E โดยเริ่มหัดจากแพทเทิร์นการตีคอร์ดที่ง่ายที่สุดก่อนก็คือดีดลงอย่างเดียว หัดเปลี่ยนคอร์ดทั้งสี่คอร์ดนี้ให้คล่อง หลังจากนั้นก็หาเพลงที่ใช้แค่สี่คอร์ดเดิมนี้อีก แต่มีแพทเทิร์นการตีคอร์ดที่ยากขึ้น เช่น ลง ลง ขึ้นขึ้น ลงลง หรือที่ยากขึ้นอีกก็เช่น ลง ลงขึ้น ขึ้นลง แพทเทิร์นพื้นฐานเหล่านี้ ใช้เล่นเพลงส่วนใหญ่ได้ เป็นอะไรที่สำคัญ

อุปสรรคอย่างหนึ่งของการหัดเล่นกีต้าร์มือใหม่คือ เจ็บนิ้ว วิธีแก้คือ ลอง setup กีต้าร์ใหม่ (จ้างช่าง) เพราะกีต้าร์บางตัวสายสูงเกินไป ทำให้กดยาก เจ็บนิ้ว และอีกวิธีคือ การเปลี่ยนสายกีต้าร์ใหม่ จากเบอร์ 12 เป็นเบอร์ 10 ก็จะนิ่มขึ้นเช่นกัน สุดท้ายแล้ว ถ้ายังเจ็บอยู่ ก็บอกเลยว่า ต้องทน ทุกคนที่หัดเล่นกีต้าร์ จะต้องเจ็บนิ้วทุกคน จนกว่านิ้วจะเริ่มด้าน ซึ่งจะทำให้รู้สึกเจ็บน้อยลงไปได้เองในที่สุด

อุปสรรคอีกอย่างคือ การร้องไปด้วยตีคอร์ดไปด้วย ในช่วงแรกๆ ถ้ายังทำไม่ได้ อาจจะต้องมีใครสักคนช่วยทำหน้าที่ร้องให้แทน หรือไม่ก็ตีคอร์ดใส่เพลงที่กำลังเล่นอยู่ และบอกเลยว่า การตีคอร์ดไปร้องไปเพลงแรกสุดในชีวิตนั้นจะยากมากๆ ให้ลองเล่นทีละประโยค เล่นช้าๆ ทำไปเรื่อยๆ จะค่อยๆ เล่นเร็วขึ้น และต่อเนื่องได้เอง โดยสำหรับเพลงแรกของชีวิต ต้องหลีกเลี่ยงเพลงที่มีแพทเทิร์นตีคอร์ดที่ยาก โดยเฉพาะแพทเทิร์นที่มีจังหวะขัด อันนี้จะยิ่งร้องด้วยยากเกินไป พอเล่นเพลงแรกในชีวิตได้แล้ว รับรองว่าเพลงที่สองจะง่ายขึ้นอย่างเหลือเชื่อ สรุปคือต้องพยายามผ่านเพลงแรกในชีวิตไปให้ได้ นั่นแหละยากที่สุด หลังจากนั้นก็จะง่ายขึ้นมาก

ที่สำคัญคือ การจะตีคอร์ดไปด้วยร้องไปด้วยให้ร้องแล้วไพเราะนั้น คุณจำเป็นจะต้องเล่นกีต้าร์ได้คล่องแคล่วมากพอที่จะเล่นได้โดยแทบไม่ต้องใช้สมองคิด เปลี่ยนคอร์ดก็ต้องคล่องจนแทบไม่ต้องมองเลย เพราะถ้ายังทำไม่ได้ขนาดนั้น สมองของเราก็จะไม่สามารถโฟกัสอยู่ที่การร้องได้ เพราะต้องเจียดกำลังมาใช้ในการเปลี่ยนคอร์ด หรือตีแพทเทิร์นอยู่ แบบนั้นการร้องก็จะไม่ดี ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของความชำนาญซึ่งต้องอาศัยเวลา ไม่มีทางลัด

การฝึกกีต้าร์หลังจากนั้น ก็ค่อยๆ เพิ่มความยากขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น ลองเพลงที่มีคอร์ดที่ยังไม่เคยเล่นอยู่ ค่อยๆ เพิ่มจักรวาลของคอร์ดที่เรารู้จักขึ้นไปทีละนิด เช่น เพลงคีย์ C เพลงคีย์ F แล้วตามด้วยเพลงคีย์ D อาจเริ่มใช้ Capo เพื่อช่วยแปลงคอร์ดของเพลงที่ยากเกินไปให้ง่ายขึ้นด้วย ในเวลาเดียวกันก็เรียนรู้แพทเทิร์นการตีคอร์ดใหม่ๆ ที่ยากกว่าเดิม ตีคอร์ดครึ่งห้อง การดีดตบ เป็นต้น

คอร์ดกลุ่มหนึ่งที่ยากสำหรับมือใหม่คือคอร์ดทาบ เริ่มต้นจาก F ตามด้วย Bm และอื่นๆ อีก ไม่มีใครในโลกที่เริ่มเล่นกีต้าร์แล้วกดคอร์ดทาบเหล่านี้ได้เลย เพราะว่านิ้วของเรายังไม่แข็งแรงพอ จึงต้องอาศัยเวลานานมากกว่าจะกดคอร์ดเหล่านี้ได้โดยไม่บอด แปลกแต่จริงที่ฝึกไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่ง อยู่ดีๆ มันก็จะกดคอร์ดเหล่านี้แบบง่ายดายได้เอง โดยไม่รู้ตัว อย่าล้มเลิกความพยายามไปก่อนก็แล้วกัน ถัดจากพวกคอร์ดทาบแล้วก็ยังมีพวกคอร์ดในต่ออีก เมื่อตีคอร์ดเก่งแล้ว ก็เปลี่ยนมาหัดเกา ฯลฯ กีต้าร์มีอะไรยากๆ ให้ท้าทายเราไปได้เรื่อยๆ ไม่มีวันจบ

ขอให้ทุกคนโชคดี

 

เที่ยวสงขลา-หาดใหญ่แบบไม่มีรถส่วนตัว

ขอเล่าประสบการณ์การไปเที่ยวสงขลา+หาดใหญ่ ช่วงหลังโควิดจบใหม่ๆ แบบไม่มีรถส่วนตัวให้ฟังหน่อย

หาดใหญ่กับตัวเมืองสงขลาอยู่ใกล้กันมาก ถ้าขับรถก็ใช้เวลาแค่ 35 นาทีเท่านั้น ก็เลยเป็นอะไรที่นิยมไปเที่ยวคู่กัน ซึ่งข้าพเจ้าก็เป็นมนุษย์ low carbon ไม่ขับรถส่วนตัวอยู่แล้ว ก็เลยวางแผนว่าจะไปเที่ยวสองเมืองนี้ แบบเช่ารถส่วนตัวขับ แต่พยายามใช้ขนส่งสาธารณะเอา

บอกเลยว่า เป็นอะไรที่ไม่เวิร์ค วิธีการที่ดีที่สุดที่จะเที่ยวสองเมืองนี้คือการเช่ารถขับทันทีที่เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ เพราะขนส่งสาธารณะมีจริง แต่ไม่เวิร์คในทางปฏิบัติ อย่างน้อยก็ ณ ช่วงที่ผมเดินทางไป

เริ่มจากประการแรกเลย พอไปถึงสนามบิน ผมก็คิดว่าจะนั่งมินิบัสจากสนามบินเข้าตัวเมือง ซึ่งมี และราคาไม่แพง แต่ปัญหาก็คือว่า รถออกไม่บ่อย ผมต้องรออีกหนึ่งชั่วโมงกว่ารถจะออก คิดแล้วไม่คุ้มค่าเวลาที่เสียไป ก็เลยตัดสินใจเรียกแท็กซี่แทน ซึ่งมีทั้งแบบแท็กซี่ลีมูซีน และแท็กซี่มิเตอร์ ซึ่งแบบหลังจะถูกกว่านิดหน่อย คิดตามระยะทาง แต่มีบวกเพิ่ม 50 บาท คล้ายๆ กับสนามบินทุกแห่งในประเทศไทย สรุปแล้ว เข้าเมืองหาดใหญ่ ผมจ่ายค่าแท็กซี่มิเตอร์ไป 190 บาท

ในตัวเมืองหาดใหญ่นั้นมีขนส่งสาธารณะให้เลือกหลายรูปแบบ ตั้งแต่รถสองแถวซึ่งวิ่งตามเส้นทางประจำ รถตุ๊กตุ๊กซึ่งคิดราคา 20 บาทต่อเที่ยวต่อคน ไปไหนก็ได้ (แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว อาจจะคิดแพงกว่านั้น)​ รถแท็กซี่เหมาซึ่งต้องโทรเรียกเท่านั้น ยังมีรถ Grab ด้วย ซึ่งส่วนตัวคิดว่า Grab เวิร์กที่สุด เพราะไม่แพง (ถ้าเทียบกับแท็กซี่) และมีเยอะ แต่นั่นก็คือเส้นทางเฉพาะในตัวเมืองหาดใหญ่เท่านั้น ถ้าหากออกไปนอกเมือง Grab จะหายาก และตัวเลือกอื่นนี่ไม่ต้องพูดถึง เพราะแพงมาก

พอมาถึงตัวเมืองหาดใหญ่ ผมก็พักกินข้าว แล้วก็คิดจะเดินทางต่อไปยังสงขลา เพราะว่าโรงแรมอยู่สงขลา ตอนแรกนึกว่ามีคิดรถสองแถวอยู่ที่ขนส่ง เพราะศึกษาจากเน็ตมาว่าเป็นแบบนั้น แต่ไปถึงจริงๆ ไม่มี มีแต่รถตุ๊กๆ เหมา ราคาโขกสับมาก ผมจ่ายไป 400 บาท เพราะความไม่รู้ ซึ่งจริงๆ ถ้าผมพยายามกดเรียก Grab ให้ได้ อาจจะใช้เวลานานสักหน่อย แต่น่าจะถูกกว่านี้เยอะเลย

โรงแรมที่ผมพักอยู่สงขลา แต่ว่าเป็นนอกเมืองสงขลา ซึ่งกลายเป็นปัญหา เพราะการเรียกแท็กซี่หรือ Grab จากโรงแรม เป็นอะไรที่ยากมาก เพราะคนขับจะต้องขับรถมาจากหาดใหญ่ เพื่อมารับ ทำให้เขาคิดแพง หรือไม่ก็ไม่อยากมารับ ถ้าจะใช้บริการรถของโรงแรมก็มี แต่ยิ่งแพง เขาคิดตั้ง 800 บาท ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม กลายเป็นว่าทุกเช้าต้องมานั่งลุ้นว่าวันนี้จะเรียก Grab ได้สำเร็จมั้ย

สรุปแล้วโลกนี้ก็ยังไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนที่ Low Carbon อยู่

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองสงขลา หลักๆ เลยก็คือย่านเมืองเก่า มีตึกรูปร่างโบราณ และสตรีทอาร์ทให้ถ่ายรูป ซึ่งกินพื้นที่ 3 ถนน ได้แก่ ถนนนางงาม ถนนนครใน และถนนนครนอก รวมทั้งยังมีร้านอาหารอร่อยๆ ให้กินหลายร้านเลย ถัดออกจากเมืองเก่าไปจะเป็นที่อยู่ของหาดสมิหา มีรูปปั้นนางเงือก เกาะหนู เกาะแมว มีถนนคนเดิน (เปิดวันศุกร์และเสาร์) ส่วนถ้าออกจากเมืองสงขลาไปเลย ก็มีมัสยิดกลาง ให้แวะชักภาพกัน และที่พลาดไม่ได้เลย คือ เกาะยอ ซึ่งเป็นเกาะในทะเลสาบสงขลา อยู่ใกล้เมืองสงขลามาก สามารถข้ามไปได้ด้วยสะพานติณสูลานนท์ ที่นั่นจะมีร้านอาหารแนวซีฟู้ดให้ได้สวาปามกัน

ร้านมหัศจรรย์เกาะยอ

สมัยก่อนคนมาเมืองหาดใหญ่เพื่อซื้อของที่ตลาดกิมหยงกัน แต่ปัจจุบันนี้สินค้าหลายอย่างมีขายที่กรุงเทพแล้ว นอกจากร้านอาหารซึ่งมีกระจายอยู่เต็มหาดใหญ่แล้ว สถานที่ท่องเที่ยวเดียวที่ไปกันก็น่าจะเป็นเขาคอหงส์ ซึ่งมี Cable Car ให้ขึ้นชมวิว