ตำนานของซิสซีฟัส

ตำนานเล่าว่า Sisyphus ถูกสาปให้ต้องเข็นหินขึ้นภูเขา เมื่อเข็นขึ้นไปจนถึงยอดเขาแล้ว ก็จะตกกลับลงมาใหม่ ทำให้ต้องเข็นหินขึ้นภูเขาไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด

อัลแบร์ กามู ตีความว่า ชีวิตคนเราก็เหมือนกับ Sisyphus ต่อให้เรามีความพยายามที่จะประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะได้มีความสุขมากแค่ไหน พอไปถึงยอดเขาแล้ว สักพักหนึ่งเราก็จะเบื่อ แล้วเริ่มมีความทุกข์อีก ทำให้เราต้องหาเป้าหมายใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีวันมีความสุขที่แท้จริงได้ เหมือนซิสซีฟัสที่ยังไงก็ต้องลำบากเข็นครกขึ้นภูเขาตลอดไปไม่มีวันจบสิ้น

ด้วยเหตุนี้แล้ว ถ้าคนเราไม่รู้จักหาความสุขระหว่างทาง ยังคิดว่าสักวันหนึ่งเราจะมีความสุขได้เมื่อประสบความสำเร็จ เราก็จะต้องมีความทุกข์ตลอดไป ความสำเร็จจึงเป็นแค่มายาคติ แต่ความสุขระหว่างทางที่จะเดินไปหาความสำเร็จไม่ว่าความสำเร็จสำหรับเราตอนนั้นจะคืออะไรก็ตามต่างหากที่เป็นความสุขที่แท้จริง ถ้าเราเรียนรู้ที่จะมีความสุขระหว่างทางได้ เราก็มีความสุขได้ทันที ไม่จำเป็นเลยว่าสุดท้ายแล้ว เราจะประสบความสำเร็จหรือไม่

เป็นปรัชญาที่แจ๋วที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมาในชีวิตในเวลานี้เลย

ประสบการณ์ของการค้นพบตัวเอง

ผมเชื่อว่า ทุกคนเกิดมาเพื่อทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน เรามีหน้าที่ค้นพบแล้วมุ่งไปสู่สิ่งนั้น อย่ามัวแต่ใช้เวลาทำตามความคาดหวังของคนอื่นซึ่งเปล่าประโยชน์

ผมพบว่า ตัวเองเป็นคนที่มี inner เกี่ยวกับเรื่อง creativity เราชอบทำอะไรใหม่ๆ ชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ทำชอบอะไรที่จำเจ รักอิสระ ชอบทำงานที่ตัวเองได้เป็นนายของตัวเอง ไม่ชอบรับคำสั่ง เวลาที่ได้ครีเอทสิ่งใหม่ๆ จะรู้สึกมีความสุขมาก และตรงกันข้ามหากไม่ได้ทำจะรู้สึกหดหู่

ผมพบว่าสิ่งที่มีช่วยผมค้นพบตัวเองอย่างมากคือ จิตวิทยาที่แบ่งบุคลิกภาพของคนเป็นแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Ennegram ผมแน่ใจว่าเป็นลักษณ์ 4 (Creativity) ที่มีปีกของลักษณ์ 5 (Intellectual)  มาผสมอย่างแน่นอน นอกจากนี้ผมยังเป็นคนที่ introvert เป็นอย่างมาก เข้าขั้นมีปัญหาในการเข้าสังคม (เป็น INTJ ซึ่งพบแค่ 1% ในโลก) เลยทีเดียว

อีกส่วนหนึ่งคือประสบการณ์การทำงาน เวลาพรีเซ็นต์งานให้ลูกค้าฟัง จะมีคนมาชมเราบ่อยๆ ว่าเราอธิบายดี ความที่เป็นคนบ้ายอ ทำให้เราพัฒนาตัวเองในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และก็ค้นพบว่า เรามีความสุขมากเวลาที่ได้นั่งทำสรุป ทำพรีเซ็นต์ เขียนบทวิเคราะห์ เขียนบทความ เขียนบล็อก อธิบายเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย มันเป็นส่วนผสมระหว่าง Creativity กับ Intelluctual ซึ่งเอามาประยุกต์ได้หลากหลายอาชีพมาก ไม่ต้องจำกัดตัวเองว่าเราอยากทำอาชีพอะไร ขอให้เป็นงานที่ได้ใช้ทักษะนี้ก็พอ สุดท้ายผมก็เข้าสู่การเป็นคนทำหนังสือเต็มตัว ซึ่งเป็นอาชีพที่ให้อิสระด้วย

จุดอ่อนของผมคือ ไม่ชอบงานที่ไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้ ถ้าผมชอบอะไร ผมมักจะเริ่มต้นด้วยการบ้ามันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่พอเรียนรู้ทุกอย่างแล้ว ก็จะเริ่มเบื่อ หมดไฟ ทำให้ต้องออกไปหาสิ่งใหม่ๆ ทุก 7 ปี ทั้งที่ถ้ายังทำอาชีพเดิมต่อไปจะยังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อีกเยอะ แต่ก็ไม่สามารถทำต่อไปได้ เพราะหมดแรงจูงใจ ทำให้ต้องเปลี่ยนอาชีพไปเรื่อยๆ

ช่วงอายุแตะ 40 ปี รู้สึกเหมือนเกิดภาวะวิกฤตวัยกลางคน ไม่สนุกกับงานทุกอย่างที่เคยสนุก แต่ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ ได้ยากขึ้นด้วย เป็นช่วงเวลาที่แย่มาก

ช่วงหลังๆ นี้ เริ่มรู้สึกถึงความแก่ สุขภาพที่ไม่เต็มร้อย (โดยเฉพาะสายตา) เริ่มรู้ตัวว่าชีวิตมนุษย์ไม่ได้ยาวอย่างที่คิด เวลาเริ่มเหลือน้อย พอคิดแบบนี้ปุ๊บ Priority ต่างๆ ในชีวิตก็กลับตาลปัตรไปหมด อะไรหลายอย่างที่เคยสำคัญมากในชีวิตกลายเป็นเรื่องที่ไร้ค่าไปเลย เร่ิมให้ค่ากับความสุขในปัจจุบันมากกว่าความสำเร็จในอนาคต

คิดว่าสิ่งที่อยากทำ ณ จุดๆ นี้ไป อยากทำงานเกี่ยวกับ Creativity ที่ที่ผ่านมายังไม่ได้ทำ เรารู้สึกว่า ที่ผ่านมาเราทำทุกอย่างเพื่อให้คนรอบข้างยอมรับมากกว่าที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองชอบหรือสนใจจริงๆ เรามุ่งสายวิทย์มากเกินไป เพราะมันทำให้สังคมยอมรับเรามากกว่า ต่อไปนี้เราจะกลับมาทำงานศิลปะบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากทำจริงๆ แต่ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้พัฒนาทักษะด้านนี้เลย เพราะที่ผ่านมาเราแคร์สังคมมากเกินไป

ที่คิดไว้ตอนนี้คืออยากพัฒนา การเขียนนิยาย การเล่นดนตรี และการใช้ภาษาจีนของตัวเอง โดยพยายามทำทั้ง 3 อย่างนี้ทุกวันให้กลายเป็นนิสัยเหมือนการแปรงฟัน

ถามว่ามาเริ่มทำสิ่งเหล่านี้ตอนแก่จะประสบความสำเร็จได้เหรอ ก็ตอบว่าเป้าหมายตอนนี้ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่คือการได้ทำ ได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่ชอบมากกว่า ผมได้ไอเดียมาจาก ยทบ.คนหนึ่งที่บอกว่า ความสำเร็จเป็นเรื่องไม่จริง เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกคนต้องตาย แล้วเราก็จะถูกโลกลืมอยู่ดี สิ่งที่มีค่ามากกว่าจึงได้แก่ ตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราได้ทำสิ่งที่เราชอบหรือเปล่า ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ มันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น

มันต้องใช้ความกล้าเยอะมากเลยนะ ที่จะละทิ้งเป้าหมายชีวิตเดิม แล้ววิ่งไปหาเป้าหมายชีวิตใหม่ ตั้งแต่เด็กผมถูกปลูกฝังมาให้วัดความสำเร็จของชีวิตจากเงินเป็นหลัก แต่ตัวตนจริงๆ ของผมไม่ได้บูชาเงินขนาดนั้น ผมแค่ต้องการให้คนรอบข้างยอมรับ ต่อไปนี้ผมจะวิ่งตามเป้าหมายชีวิตที่ผมออกแบบเองตามความต้องการที่แท้จริงลึกๆ ในใจของผม พูดอีกอย่างก็คือ เลิกแคร์สื่อ

ผมยังชอบอีกแนวคิดหนึ่งของ ยทบ.ท่านนี้ที่บอกว่า ถ้าคุณมีเงินมากขนาดอยากกินชาบูชิเมื่อไรก็ไปกินได้เลย นั่นคือคุณรวยพอแล้ว จงเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่คุณอยากทำจริงๆ ดีกว่า ผมชอบไอเดียนี้มากๆ เลย

นอกเหนือจากการทำสิ่งที่ชอบแล้ว มีอีก 3 อย่างที่ผมดูแลตัวเองไปด้วย คือ สุขภาพ เงินออมและความสัมพันธ์ที่ดี เพราะว่ากันว่า คนสูงอายุจะมีความสุขหรือไม่ สุดท้ายขึ้นอยู่กับ 3 สิ่งนี้เท่านั้นเอง อะไรนอกจากนี้ ไม่จำเป็นเลย

(แค่เล่าให้ฟังเฉยๆ นะ อย่าทำตาม inner ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จงหามันให้เจอด้วยตัวของคุณเอง)

ปรัชญาของนิชเช่

นิชเช่ (Nietzche) เรียกตัวเองว่า immoralist ซึ่งมักทำให้คนเข้าใจผิดว่านิชเช่ไม่เชื่อว่าจริยธรรมมีอยู่จริง แต่ที่จริงแล้ว แนวคิดของนิชเช่แปลกกว่านั้นมาก นิชเช่เชื่อว่ามีจริยธรรม แต่ที่ไม่มีคือจริยธรรมที่เป็นสากล จริยธรรมสำหรับนิชเช่นั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลล้วนๆ ของใครของมัน ซึ่งนับว่าเป็นแนวคิดที่แปลกมากๆ

นิชเช่เห็นว่า จริยธรรมที่เป็นสากล หรือจริยธรรมที่สังคมยอมรับทั้งหลายในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือที่ผู้ปกครองใช้ควบคุมไพร่เท่านั้น นิชเช่มองว่าจริยธรรมแบบคริสตศาสนา เป็นจริยศาสตร์ที่กดให้เราเป็นทาส เหมือนเราเกิดมาก็เป็นหนี้พระเจ้าเลย เพราะว่าพระเจ้าได้ตายเพื่อไถ่บาปเราไปแล้ว

คนเราควรใช้ความคิดที่เป็นของตัวเองไตร่ตรองดูด้วยตัวของตัวเองว่าจริยธรรมที่ถูกหรือผิดสำหรับตัวเราคืออะไร แล้วดำเนินไปตามรอยนั้น นิชเช่ไม่ได้บอกว่าจริยธรรมไม่มีจริง และเราจะทำเลวแค่ไหนก็ได้ ตรงกันข้าม เราควรคิดด้วยตัวเองว่าสิ่งที่ถูกหรือผิดนั่นคืออะไร แทนที่จะฟังตามๆ กันมา หรือแค่เชื่อสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน

นิชเช่ เชื่อว่าธรรมชาติสร้างมนุษย์มาพร้อมกับความต้องการที่จะป้องกันตัวเอง แสวงหาสิ่งที่ตัวเองต้องการ ตั้งแต่อาหารไปถึงความต้องการทางจิตอย่างอื่น และรวมไปถึงความต้องการที่จะแสดงความเป็นตัวตนของเราออกมาได้อย่างอิสระ นิชเช่เรียกแรงผลักนี้ว่า Will To Power ซึ่งบางทีก็ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการอยากมีอำนาจกดคนอื่น แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการรักษาสิทธิของตัวเองมากกว่า นอกจากนี้โลกยังสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาให้ต้องเบียดเบียนกันอยู่แล้วเพื่อความอยู่รอดของตัวเองโดยธรรมชาติ สัตว์ก็กินกันเองเป็นอาหารเป็นทอดๆ สังคมมนุษย์ก็ต้องแก่งแย่งและกดขี่กันเพื่อเอาตัวรอด วัฒนธรรมหลายๆ อย่างของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ควบคุมหรือกดคนอื่น เราจึงไม่ควรทำตามสังคมอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่ควรดิ้นรนเพื่อที่จะได้มีวิถีชีวิตและวิจารญาณเป็นของตนเองแม้ว่าจะทำให้เราต้องเจอกับอุปสรรค แต่ก็ควรทำ

แนวคิดอีกอย่างหนึ่งของนิชเช่คือ นิชเช่ไม่ให้เราเกลียด Will To Power ของตัวเอง เพราะมันเป็นสัญชาตญาณที่ธรรมชาติสร้างมาให้อยู่ในตัวเรา เราไม่สามารถที่จะกำจัดมันออกไปได้ ทางที่ดีกว่าคือ หาวิธีที่จะนำด้านดีของมันมาใช้เพื่อพัฒนาตัวเองในทางที่สังคมยอมรับ และพยายาม downplay ด้านที่ร้ายของมัน แทนที่จะพยายามกำจัดมันให้หมดไป หรือหลอกตัวเองว่าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตัว ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โดยส่วนตัวแล้ว ผมเลือกที่จะไม่นับถือศาสนา เพราะศาสนามักมองกิเลสตัณหาในแง่ร้ายอย่างเดียว หรือบอกให้กำจัดกิเลสให้หมดไปจากตัว ซึ่งผมเชื่อว่าคนเราไม่สามารถทำได้ ทางที่ดีกว่าคือเราควรเอาด้านดีของกิเลสมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากกว่า

แนวคิดนี้ของนิชเช่จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องจริยธรรมเท่านั้น แต่กินความไปถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิตของเราด้วย คนเราควรเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง เลือกทางที่ดีที่สุดที่เหมาะกับตัวเอง แล้วดำเนินชีวิตไปเพื่อเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของตัวเราเองตามเส้นทางนั้น เขาเชื่อว่าคนเราเกิดมาเพื่อทำอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนคนอื่น และหน้าที่หรือจุดมุ่งหมายของชีวิตคือการตามหาสิ่งนั้นให้พบแล้วทำมันให้สำเร็จ เกิดมาแค่ชาติเดียวอย่ามัวเอาเวลาไปทำอะไรก็ไม่รู้ที่ตัวเราเองไม่ได้เป็นคนอยากทำ ซึ่งนิชเช่ยอมรับว่า เส้นทางเดินแบบนี้มักทำให้เราต้องใช้ความพยายามมากกว่า ลำบากกว่า หนักหนาสาหัสกว่า และก่อให้เกิดความขัดแย้งกับคนหรือสังคมรอบข้างได้มากกว่า แต่มันก็คุ้มค่าที่จะทำแบบนั้น เพื่อให้เราได้เกิดมาแล้วใช้ชีวิตในแบบที่เราเกิดมาเพื่อเป็นสิ่งนั้นจริงๆ

คติพจน์ประจำใจ

ถ้าให้เลือกคติพจน์ประจำใจที่ดีที่สุดของตัวเองก็คงจะเป็นวลีที่บอกว่า เราสามารถทำอะไรก็ได้หมุดทุกอย่างที่เราอยากทำ ตราบเท่าที่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เดือดร้อนคนอื่น แต่วลีนี้เป็นอะไรที่จะต้องขยายความสักหน่อย

ผมรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมา ถ้าหากผมยึดคติพจน์ข้อนี้ให้มากขึ้นกว่านี้สักหน่อย ผมคงมีความสุขมากกว่านี้ เราปล่อยให้โอกาสในชีวิตที่ดีๆ หลายๆ ครั้งหายไป เพียงเพราะว่าเรากลัวคนอื่นจะคิดยังไงกับเราโดยไม่จำเป็น มากกว่าที่เราจะฟังความต้องการในใจลึกๆ ของตัวเราเอง

ที่มันน่าเจ็บปวดก็คือ บ่อยครั้งคนเหล่านั้นที่เรากลัวว่าเขาจะคิดยังไงกับเรา ไม่ใช่คนที่หวังดีกับเรา แต่เป็นคนที่คอยสอดรู้สอดเห็น อิจฉาริษยา ไม่ยอมรับเรา ไม่อยากให้เราได้ดี เรามัวแต่ใช้พลังงาน 95% ของเราไปกับการทำให้คนเหล่านี้ยอมรับเรา มองว่าเราเป็นคนไม่แปลก ซึ่งสุดท้ายแล้วต่อให้เราทำดีแค่ไหน พวกเขาก็ยังไม่ยอมรับเราอยู่ดี เราน่าจะเอาเวลาตรงนั้นไปทำสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ มากกว่า แคร์คนแค่ไม่กี่คนที่รักและหวังดีกับเรามากกว่า แต่แปลกที่เราก็ไม่ได้เลือกที่จะทำแบบนั้น มันเป็นชีวิตที่น่าเสียดาย

จริงๆ แล้ว คนเราสามารถทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำ แล้วตำรวจไม่จับ แต่เป็นเพราะว่าเรากลัวนั่นกลัวนี่เต็มไปหมด กลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราเป็นคนแบบไหน มองว่าเราแปลก มองว่าเราไม่มีมารยาท ไม่ยอมรับเราเป็นพวก ฯลฯ ทำให้เราไม่กล้าทำสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ซึ่งหลายๆ ครั้งมันก็อาจเป็นเพราะเรากังวลมากเกินไปว่าคนรอบข้างเขาจะคิดยังไงกับเรา ทั้งที่จริงๆ แล้ว เขาเหล่านั้นอาจไม่ได้สนใจเราเลยด้วยซ้ำ ทุกคนก็เห็นตัวเองเป็นตัวละครหลักของโลกที่มีคนอื่นเป็นแค่ตัวประกอบทั้งนั้นแหละ เราไม่ได้สำคัญสำหรับคนอื่นขนาดนั้นหรอก แต่เราสำคัญผิดไปเองว่าคนอื่นจะคอยตัดสินเราอยู่ตลอดเวลา หรือบางครั้งก็จริง แต่คนเหล่านั้นก็ไม่ใช่คนที่หวังดีกับเรา ก็เลยไม่รู้ว่าจะต้องแคร์คนเหล่านั้นไปเพื่ออะไร

เคยได้ยินคำพูดคำหนึ่งที่บอกว่า วันที่เราตายจะมีคนจำนวนหนึ่งที่เสียใจ และก็อาจมีคนจำนวนหนึ่งที่ดีใจ แต่หลังจากนั้นอีกห้าปี ทุกคนจะลืมเรา นั่นสินะ จริงๆ แล้ว เราไม่ได้สำคัญสำหรับคนอื่นมากขนาดนั้น ทุกคนมีเรื่องของตัวเองที่ต้องทำ ไม่มีเวลามาสนใจเราขนาดนั้นหรอก แต่สำคัญผิดไปเอง ตอนมีชีวิตอยู่ ถ้าเราอยากทำอะไร ก็ทำไปเถอะ ก่อนที่จะไม่ได้ทำ อย่ามัวแต่ไปสนใจว่าคนอื่นจะคิดกับเรายังไง มันไม่ได้มีค่ามากขนาดนั้น สุดท้ายแล้วเราก็จะถูกลืมอยู่ดี

คนเรามักบ้าความดี และเราก็อยากรู้สึกว่า ตัวเราเองเป็นหนึ่งในคนดีนั้น เรากลัวว่าคนอื่นจะคิดว่าเราเป็นคนไม่ดี เราจึงอยากให้ทุกคนรักเรา หรือมองว่าเราเป็นคนดี ไม่ใช่คนเลว ซึ่งนั่นมีต้นทุนในชีวิตเยอะมาก จริงๆ แล้ว คนที่ทุกคนบอกว่าเป็นคนดี มักไม่ใช่คนดี แต่เป็นแค่คนที่เอาใจคนอื่น เพื่อให้ทุกคนชอบตัวเอง แทนที่จะเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ ซึ่งหลายครั้งหมายถึงการทำสิ่งที่ต้องมีบางคนชอบ บางคนเกลียด ดังนั้น คนที่ทำสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ มักไม่ใช่คนที่ทุกคนรัก แต่เป็นคนที่มีทั้งคนรักและคนเกลียดมากกว่า บุคคลสำคัญของโลกหลายคนมีศัตรูคู่อาฆาต ดังนั้นเราจะอยากให้ทุกคนรักเราไปทำไม ทำสิ่งที่ถูกต้องดีกว่า

ยิ่งสังคมไทยเป็นสังคมวัยวุฒิ คุณค่าของคนอยู่ที่จำนวนผมหงอกบนหัว ทั้งที่บางทีคนแก่บางคนก็เลวเอามากๆ แต่เราก็ไม่กล้าขัดใจ เพราะกลัวคนจะมองว่าเราไม่มีสัมมาคารวะ เป็นคนอกตัญญู เราเลยต้องยอมคนเหล่านั้น ทั้งที่สิ่งที่คนเหล่านั้นทำเป็นสิ่งที่ไม่ถูก ที่จริงแล้ว เราควรจะดูที่การกระทำมากกว่า คนแก่หรือคนที่เป็นญาติผู้ใหญ่ของเราเราก็ไม่จำเป็นต้องเคารพก็ได้ ถ้าคนเหล่านั้นทำตัวไม่น่าเคารพ การเป็นญาติหรือไม่เป็นญาติ ไม่เกี่ยว แน่นอนว่าการทำแบบนั้น เราก็อาจจะถูกตอบโต้โดยผู้ใหญ่เหล่านั้น ซึ่งมักจะมีอำนาจเหนือกว่าเราในทางลำดับชั้นทางสังคมที่จะสามารถอาศัยอำนาจเหล่านั้นมากดดันเราได้ แต่นั่นแหละก็คือ trade-off ในชีวิตที่คนเราจำเป็นต้องเลือก เราควรเลือกทำสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้องมากกว่า อย่ามัวแต่ยอมให้คนเลวๆ เหล่านั้นครอบงำทุกอย่างในชีวิตของเรา จนเราไม่ได้ใช้ชีวิตของตัวเอง

ผมมาค้นพบตอนหลังว่า จริงๆ แล้ว ความต้องการในชีวิตหลายอย่างของคนเราที่เรามักคิดว่าเป็นความต้องการของเราเองจริงๆ นั้น จริงๆ แล้ว เราแค่ต้องการสิ่งเหล่านั้นเพื่อพิสูจน์หรือทำให้คนรอบข้างยอมรับเราเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอยากได้ซุปเปอร์คาร์ อยากสอบติดคณะที่เข้ายากๆ อยากเรียนจบปริญญาเอก อยากมีชื่อเสียง อยากเป็นมหาเศรษฐี อยากไปกินร้านมิชลิน อยากมีกระเป๋าแบรนด์เนม อยากทำงานอดิเรกบางอย่างที่เท่ๆ ลองสมมติว่า ถ้าเราได้สิ่งเหล่านั้นสมปรารถนา แต่ห้ามให้คนอื่นรู้เลยว่าเราได้สิ่งนั้น เราจะยังต้องการสิ่งนั้นอยู่รึเปล่า บ่อยครั้งเราจะพบว่า ถ้าต้องมีเงื่อนไขนี้ ความอยากได้สิ่งเหล่านั้นก็แทบจะหายไปทันที นั่นเป็นเพราะว่าจริงๆ แล้ว เราไม่ได้อยากได้สิ่งเหล่านั้นเองจริงๆ เราแค่อยากได้มันเพื่อเป็นบันไดไปสู่การที่คนอื่นจะยอมรับเราเท่านั้นเอง จริงๆ แล้ว เราแค่ต้องการการยอมรับจากคนรอบข้าง ซึ่งสุดท้ายแล้ว คนอื่นก็ไม่ได้สนใจเรามากขนาดนั้น หรือถ้าบางคนเห็นเราทำสิ่งเหล่านั้นได้ ก็อาจรู้สึกริษยาเรามากกว่าเดิม ไม่ได้รักเราอยู่ดี เราจะแคร์สื่อไปทำไม

ถ้าเราเลิกแคร์สื่อ แล้วหันกลับมาที่ความต้องการที่เป็นของตัวเราเองจริงๆ เราจะพบว่า สิ่งที่เราอยากได้จริงๆ นั้นเหลือไม่ถึง 5% ชีวิตจะง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก มีพลังและทรัพยากรเหลือให้โฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองอยากได้จริงๆ มากขึ้นมาก ชีวิตที่ไม่ได้โหยหาการยอมรับจากคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เป็นชีวิตที่มีความมั่นคงในจิตใจมากกว่า

เรื่องที่ทำให้ชีวิตยุ่งยากโดยไม่จำเป็น

เรื่องหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเรายุ่งยากโดยไม่จำเป็นคือ คนเรามักชอบให้คนอื่นคิดเหมือนกับตัวเอง เราชอบคนที่คิดแบบเดียวกับเรา และมักรู้สึกอึดอัดเวลาที่ต้องเจอใครที่คิดต่างจากเรา ถ้าเราสามารถตัดความต้องการนี้ออกไปได้ ชีวิตของเราจะง่ายขึ้นมากในหลายๆ มิติ

มาลองคิดดูดีๆ ทำไมเราต้องอยากให้คนอื่นคิดเหมือนกับเราด้วย ถ้าคนอื่นคิดต่างจากเราแล้วมันยังไง มันก็แค่ความคิดเห็นที่ต่างกันเฉยๆ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่คนสองคนจะคิดเหมือนกันไปหมดทุกเรื่อง เราจะแสวงหาเพื่อนที่คิดเหมือนเราไปทำไม บางทีมันอาจเป็นสัญชาตญาณบางอย่างที่ธรรมชาติสร้างมาให้บรรพบุรุษของเรา เพื่อให้เราอยู่รอดได้มากขึ้นจากการรวมกลุ่ม แต่มันไม่ได้จำเป็นอีกต่อไปแล้วในโลกสมัยใหม่ เหมือนๆ กับสัญชาตญาณของการเหยียดผิว

คนเราชอบผูกขาดความจริง เราอยากให้ความเชื่อของเราได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นความถูกต้องที่สังคมทั้งหมดต้องยอมรับ แต่ในความเป็นจริง ทุกคนในสังคมไม่มีทางคิดเหมือนกันได้หมด และคนอื่นๆ ก็อยากให้ความเชื่อของเขาได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นความถูกต้องเช่นกัน กลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่มีวันจบสิ้น

ในสังคมอำนาจนิยม บ่อยครั้งความขัดแย้งนี้จบลงด้วยการใช้อำนาจบังคับโดยผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ถ้าเรามีอำนาจหรือสถานะทางสังคมที่เหนือว่าใครในสังคม เราก็มักจะใช้อำนาจนั้น บังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้คนที่อยู่ใต้เราต้องเชื่อตามเราไปด้วยแบบไม่เต็มใจ เช่น ถ้าเราเป็นเจ้านาย เราก็แสดงออกว่าเราชอบลูกน้องคนที่คิดเหมือนเรามากกว่า หรือไม่รับใครเข้าทำงานด้วยเหตุผลที่ว่า เขามีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกันเรา เพื่อบังคับให้ลูกน้องหันมาคิดเหมือนเรา  เป็นครูบาอาจารย์ก็บังคับลูกศิษย์ เป็นพ่อแม่ก็บังคับลูก ทั้งที่เราก็รู้ว่า คนเหล่านั้นไม่ได้เห็นด้วยกับเราจริงๆ เขาแค่กลัวเรา แต่เราก็ยังยินดีที่จะหลอกตัวเอง บังคับให้คนอื่นต้องไหว้หน้าหลังหลอก เพราะความต้องการที่จะผูกขาดความจริงของเรามันรุนแรงมาก และเราก็จะหาเหตุผลดีๆ มาสนับสนุนการใช้อำนาจในทางมิชอบของเรา เช่น บอกว่าเราทำเพื่อความถูกต้องบ้างล่ะ เพื่อความดีบ้างล่ะ แต่จริงๆ แล้วเราแค่อยากผูกขาดความจริง เป็นการทำเพื่อตัวเองล้วนๆ

ยิ่งเป็นเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง เรายิ่งรู้สึกรุนแรง เรารู้สึกเกลียดชังคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองฝั่งตรงข้ามกับเราอย่างมาก หลายๆ คนอยากให้คนจำนวนหนึ่งในสังคมตาย เพื่อให้สังคมที่เหลือทั้งหมดเห็นด้วยกับตัวเอง หลายคนอยากจับคนที่เห็นต่างมานั่งอธิบายยาวๆ ว่าเขาผิดยังไง และเราถูกยังไง ที่น่าตลกก็คือ คนที่เห็นต่างกับเราเองก็อยากเปลี่ยนเรามากเท่าๆ กับที่เราอยากเปลี่ยนเขานั่นแหละ ความคิดเห็นทางการเมืองเป็นอะไรที่หยั่งรากลึกมากๆ ในตัวคน ดังนั้นแค่การมานั่งอธิบายเหตุผลยาวเหยียดมักเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองไม่ได้ง่ายๆ ต่อให้เราเถียงจนอีกฝ่ายหนึ่งจนมุมด้วยเหตุผล สุดท้ายแล้ว เขาก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนความคิดอยู่ดี แต่เราเกลียดกันมากกว่าเดิม

บางคนบอกว่า ถ้าเราเถียงกันแต่เถียงด้วยเหตุผล ก็น่าจะดีไม่ใช่เหรอ ซึ่งอันนั้นผมก็เห็นด้วยแต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ในชีวิตจริงคือ คนเราส่วนใหญ่ใช้อารมณ์ทั้งนั้น คือเราใช้อารมณ์เลือกสิ่งที่เราถูกใจและไม่ถูกใจก่อน จากนั้นเราค่อยคิดหาเหตุผลมาสนับสนุนความถูกใจไม่ถูกใจของเรา เพื่อหลอกตัวเองว่าเรามีเหตุผล เหตุผลเหล่านั้นมักเป็นเหตุผลที่เราเลือกมาแต่อันที่สนับสนุนความถูกใจของเราเท่านั้น เหตุผลไหนที่ขัดแย้ง เราแกล้งละเลยโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การเถียงกันจึงมักไม่ค่อยได้ประโยชน์จริงอย่างที่คิด ถ้าหากผมเจอคนที่ยังเปิดใจและพร้อมจะรับฟังเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่งจริงๆ ผมก็จะเสียเวลาอธิบายให้พวกเขาฟังนะ เพียงแต่ว่าในความจริง คนแบบนั้นมีอยู่น้อยมากๆ

ถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ต่อไปนี้ถ้าคนอื่นมีความคิดเห็นต่างจากเรา  นั่นเป็นสิทธิของเขา เป็นเสรีภาพของเขา เราจะไม่พยายามเปลี่ยนเขา และเราก็ไม่มีสิทธิอะไรที่จะไปเปลี่ยนความคิดของเขาด้วย ความคิดเห็นก็เป็นเพียงแค่ความคิดเห็น ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ แบบนี้ ชีวิตของเราของเราจะง่ายขึ้นมาก ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเปลี่ยนคนอื่น เอาเวลาและพลังงานไปทำอย่างอื่นเพื่อที่พัฒนาตัวเอง และทำสิ่งดีๆ ให้กันและกันดีกว่า

(ที่เขียนซะหล่อขนาดนี้ ใช่ว่าต้วเองจะทำได้แล้วนะ แต่ก็พยายามอยู่)

 

ถ้าให้แนะนำคนอื่นแค่เรื่องเดียว ผมจะแนะนำเรื่องอะไร

แปลกแต่จริงนะที่เดี๋ยวนี้ผมไม่อยากสอนหรือแนะนำอะไรใครเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิต

ไม่ใช่ว่าหวงความรู้หรืออะไรเลย แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าจริงๆ แล้ว ตัวเราไม่ได้รู้อะไรขนาดนั้น ที่จะริอ่านไปสอนคนอื่น เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกด้วยซ้ำว่า เมื่อก่อนที่เวลาที่ผมชอบสอนคนอื่น บ่อยครั้งเป็นเพราะเราแค่อยากเอาความเชื่อของเราไป force คนอื่นให้เชื่อเหมือนกันเรา แทนที่เราจะสอนเพราะว่าเราอยากให้อะไรแก่พวกเขาจริงๆ

ตอนอายุ 20+ ผมไฟแรงมาก รู้สึกว่าตัวเรานี่มีความรู้เยอะ ก็เลยรู้สึกอยากเผยแพร่ความรู้ของเราเป็นวิทยาทานให้คนอื่น ทำให้เป็นคนชอบสอน แต่พอตอนอายุ 40+ กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย ทำให้แรงจูงใจที่อยากจะสอนคนอื่นหายไปหมด

อีกอย่างหนึ่งคือยิ่งนับวันยิ่งรู้สึกว่า คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย เราไม่สามารถเอาวิธีที่ประสบความสำเร็จสำหรับตัวเราไปบอกคนอื่นให้ทำตามแล้วจะประสบความสำเร็จแบบเดียวกันได้ จุดมุ่งหมายหรือคุณค่าในชีวิตของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนมองความสำเร็จเป็นเรื่องใหญ่ บางคนมองความรักเป็นเรื่องใหญ่ ฯลฯ ทุกคนเกิดมาเพื่อจะเป็นใครสักคนที่ไม่เหมือนกับใครๆ เลยในโลกนี้ จึงไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้เสมอกับทุกคน

อาจจะจริงที่ว่าอาจจะมีหนทางบางหนทางที่ใช้ได้กับคนจำนวนมากๆ อยู่บ้าง แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมรู้สึกว่าผมเป็นคนแปลกเกินกว่าที่จะเอาวิธีแปลกๆ ของผมมาใช้กับคนส่วนใหญ่ได้ ถ้าใครเป็นคนแบบนั้น ก็ให้เขาเป็นคนสอนคนอื่นๆ จะดีกว่าให้ผมสอน

ทุกวันนี้ถ้าจะให้สอนใครสักคนเรื่องอะไรก็ได้สักเรื่องหนึ่ง เรื่องเดียวที่อยากจะบอกก็คือ ให้ทุกคนออกไปลองลงมือทำให้มากที่สุด อย่าเกี่ยงโอกาสส่วนใหญ่ที่เข้ามาในชีวิต การได้ลองทำเท่านั้นที่จะทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เหมาะกับตนเองจริงๆ คืออะไร อย่ามัวแต่นั่งคิด เราไม่มีทางค้นพบสิ่งที่เหมาะกับตัวเองจริงๆ ได้ด้วยการนั่งคิด อย่ามัวแต่รอถามกูรู เพราะไม่มีกูรูคนไหนที่จะรู้จักตัวเราเองได้ดีกว่าตัวเรา ถ้าผมกลับไปบอกตัวเองตอนอายุ 20 ได้ก็จะแนะนำแบบนี้เหมือนกัน มีคนน้อยมากๆ ที่รู้ตัวเองตั้งแต่เกิดว่าอยากทำอะไร ทุกคนจะค่อยๆ ค้นพบตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจจากการที่ได้ลองทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยๆ ตลอดเส้นทางของชีวิตมากกว่า เพราะฉะนั้นยิ่งใครลองทำมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสค้นพบตัวเองได้มากและเร็วขึ้นเท่านั้น

สัญลักษณ์ในเรื่องหนูน้อยหมวกแดง

นิทานสำหรับเด็กอย่างเรื่องหนูน้อยหมวกแดงก็มีสัญลักษณ์แอบซ่อนอยู่

หมวกแดงหมายถึงเลือด ซึ่งหมายถึงประจำเดือน การที่หนูน้อยใส่หมวกแดงจึงหมายถึงเด็กผู้หญิงที่กำลังแตกเนื้อสาว

นิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดงจึงหมายถึงเด็กผู้หญิงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยสาว (coming-of-age) ต้องเริ่มต้นเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงที่ฉาวคาวโลกีย์  การเดินเข้าไปในป่าเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มรู้เดียงสา ในขณะที่หมาป่าหมายถึงเพศชาย ที่เข้ามากลืนกินหนูน้อยหมวกแดง ซึ่งอาจหมายถึงการข่มขืน

นิทานเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนการเตือนเด็กผู้หญิงให้อยู่ในโอวาท (เชื่อฟังคุณแม่ ไม่ไปเที่ยวเถลไถลในป่า เพื่อที่จะได้ปลอดภัยจากภัยคุกคามรอบตัว)​

นั่นคือการตีความนิทานเรื่องนี้โดยคนที่ใช้แนวคิดของฟรอยด์เข้ามาจับ ส่วนจริงๆ แล้วคนแต่งเรื่องนี้จะคิดแบบนั้น (คิดจริงๆ หรือคิดโดยจิตไร้สำนึก) รึเปล่า ก็แล้วแต่ทุกคนจะ speculate

Carl Jung และ Archetypes

ยุงบอกว่า จิตไร้สำนึกของคนเรามีสองส่วน

ส่วนแรกคือ Personal Unconscientiousness ซึ่งเก็บเรื่องราวเฉพาะบุคคลของแต่ละคนเอาไว้

กับส่วนที่สองคือ Collective Unconscientiousness ซึ่งเป็นส่วนที่แชร์กันระหว่างมนุษยชาติ เกิดจากประสบการณ์ของบรรพบุรุษของเราที่สะสมรวมกันมาในพันธุกรรม แล้วถ่ายทอดลงมาในจิตไร้สำนึกของมนุษย์ทุกคน

สังเกตได้จาก เด็กแรกเกิดจำนวนมากจะกลัวงู ทั้งที่ไม่เคยเห็นงูมาก่อนในชีวิต เพราะงูเป็นศัตรูของมนุษย์มาต้ังแต่ยุคหิน ความกลัวงูจึงเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม และทำให้มนุษย์สมัยใหม่กลัวงูตั้งแต่เกิด โดยที่ไม่จำเป็นต้องเคยเจองูมาก่อน สัตว์จำพวกนกก็กลัวเหยี่ยวตั้งแต่เกิดเหมือนกัน

นอกจากนี้ จิตใต้สำนึกร่วมกันที่ว่านี้ยังมีอยู่ในคนทุกชาติทุกภาษาทั้งที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน ซึ่งสังเกตได้จากสัญลักษณ์หลายๆ อย่างที่มีร่วมกันอยู่ในทุกๆ วัฒนธรรม เรียกว่า Archetypes ตัวอย่างเช่น สัญลักษณ์เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนามักจะมีรูปวงกลม หรือจุดศูนย์กลาง หรือชายแก่มักเป็นสัญลักษณ์แทนปัญญา หรือนิทานปรัมปราของหลายๆ เชื้อชาติ มีโครงเรื่องที่เหมือนกัน เช่น มีวีรบุรุษที่ต้องระเหเร่ร่อนตอนเด็กๆ แล้วกลับมายิ่งใหญ่ในตอนจบ หรือลูกกษัตริย์ที่ฆ่าพ่อของตัวเอง เป็นต้น

ในแง่ของความต้องการและจุดมุ่งหมายในชีวิตของคนเรา ยุงได้ไขออกมาว่าคนเรามีความต้องการสูงสุดในชีวิตได้ 12 แบบ เรียกว่า the 12 archetypes ซึ่งแต่ละคนจะมีแบบใดแบบหนึ่งที่เด่นมากเป็นพิเศษ และทุกคนสามารถใช้ 12 archetypes เป็นแนวทางในการค้นหาความต้องการที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกของตัวเองได้ด้วย

Joseph Campbell เป็นคนที่หนึ่งที่เอาแนวคิดนี้มาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนบทภาพยนตร์หรือนิยายหรือนิทานหลายๆ เรื่องที่มีโครงเรื่องคล้ายกัน เรียกว่า the Hero’s Journey ตัวอย่างเช่น สตาร์วอร์ส และอีกหลายๆ เรื่องที่มีพล็อตเรื่องเกี่ยวกับฮีโร่ ซึ่งอาจเป็นความบังเอิญในจิตใต้สำนึกของผู้ประพันธ์ ที่ต้องการเรื่องราวอะไรทำนองนี้ และมีอยู่ในทุกชาติทุกภาษา

 

 

Carl Jung กับเป้าหมายของชีวิต

ยุงเชื่อว่าจิตใจของคนเรามีทั้งส่วนที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (จิตไร้สำนึก)​ ซึ่งก็คล้ายๆ กับฟรอยด์ แต่ยุงไม่ได้เชื่อว่าจิตไร้สำนึกเป็นที่อยู่ของแรงขับเรื่องเพศและความก้าวร้าวเป็นหลักแบบฟรอยด์ ยุงเชื่อว่าจิตไร้สำนึกมีอะไรมากกว่านั้น คือเกี่ยวข้องแทบจะทุกเรื่องในชีวิตของเราเลย

เมื่อคนเราเติบโตขึ้นและต้องอยู่ร่วมกับสังคม ความต้องการทั้งหลายของเราจะชนเข้ากับความต้องการของสังคม ทำให้เราต้องปรับตัวด้วยการซ่อนหรือกดเก็บความต้องการบางอย่างของเราไว้ในจิตไร้สำนึก ทำให้เราไม่รู้ตัวอีกต่อไปว่าเรามีด้านนั้นๆ อยู่ในตัวเราด้วย ถึงจุดหนึ่งการห่างเหินจากด้านที่หายไปของเราจะเริ่มกลับมาสร้างปัญหาในการใช้ชีวิต ดังนั้นหน้าที่ของเราคือการดึงส่วนที่หายไปนั้นกลับมา เพื่อให้เรากลับมาเป็นคนที่สมบูรณ์ จุงเรียกกระบวนการนี้ว่า Individuation

อาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายชีวิตของทุกคนคือกระบวนการ Individuation นี่แหละ ยิ่งโตขึ้น เรายิ่งต้องค่อยๆ รู้จักตัวเองในด้านลึกให้มากขึ้น ยอมรับว่าเรามีด้านมืดในบุคลิกภาพของเราอยู่ โดยไม่ตัดสิน ดึงมันกลับมาให้เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของเราอีกครั้ง หาทางนำมันมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์และในเวลาเดียวกันก็ไม่เดือดร้อนสังคม แทนที่จะหลอกตัวเองว่าเราไม่มีด้านเหล่านั้นแล้วกดเก็บมันไปเรื่อยๆ จนระเบิดออกมา คนที่ผ่านกระบวนการ Individuation ได้สำเร็จจะเป็นคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์​ [คล้ายกับเรื่อง Self-actualization ของ Maslow]

มีหลายวิธีที่จะทำให้เราสามารถเข้าถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราได้ เช่น การเขียนบันทึกประจำวันเป็นประจำ หรือการหาโอกาสอยู่คนเดียวเงียบๆ เพื่อฟังเสียงในใจของตัวเองบ้าง รวมไปถึงการสังเกตตัวเองว่ามีความสุขกับอะไรบ้าง กิจกรรมอะไรที่ทำแล้วมีความสุขจนลืมเวลา การสังเกตว่าเรารู้สึกโกรธมากเป็นพิเศษเวลาที่เราถูกคนอื่นวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาประกอบกันเพื่อทำให้เราเข้าใจจิตไร้สำนึกของตัวเองมากขึ้น แต่โดยมากแล้วเราอาจต้องใช้เวลาจนถึงอายุประมาณ 40 ปีกว่าจะรู้จักตัวเอง

บางคนกดเก็บความคิดในด้านมืดของตัวเองไว้ตลอดเวลา ปฏิเสธว่าตนเองมีความอิจฉาริษยาผู้อื่น ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีด้านที่คิดลบด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีมนุษย์คนไหนที่ไม่มีด้านมืดเลย สุดท้ายแล้วมันจึงกลายเป็นการหลอกตัวเอง (toxic positivity) กลายเป็นปัญหาบุคลิกภาพ พวกเขาอาจเก็บกดจนเกิดความเครียด หรือระเบิดออกมาในที่สุด ในขณะที่คนที่มีจิตใจที่สมดุลมากกว่า จะยอมรับความจริงว่าตัวเองมีความคิดด้านลบอยู่ด้วย แต่พยายามแสดงออกหรือนำมันมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์และสังคมยอมรับ เช่น ใช้เป็นแรงผลักดันให้พัฒนาตนเอง เป็นต้น เป็นบุคลิกภาพที่สมดุลมากกว่า และมั่นคงในระยะยาว

บางคนประสบความสำเร็จในชีวิตสูงมาก มีเงินมากมาย มีอำนาจ มีชื่อเสียง มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ในทางจิตใจแล้วเป็นคนที่เก็บกด มีจิตใจอิจฉาริษยาคนอื่น ยังโหยหาการยอมรับจากสังคมอยู่ร่ำไป ฯลฯ เป็นคนที่ยังไม่เต็ม ก็ไม่นับว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ในขณะที่คนที่บรรลุ Self-actualization แล้ว แม้ว่าจะดูเหมือนประสบความสำเร็จในทางวัตถุน้อยกว่า แต่ก็ชื่อได้ว่าเป็นคนที่บรรลุเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่แล้ว